ธ.ก.ส.จัดหนัก ให้สินเชื่อแสนล้าน ทำเกษตรเอสเอ็มอี-ผู้มีรายได้น้อย แถมลดดอกเบี้ยให้กำลังใจลูกค้าดีอีก 2.3 ล้านราย
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารได้ออกมาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้ออกสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุโครงการ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% เป็นเวลา 3 ปี เริ่มปล่อยวันที่ 1 เม.ย. 2561-31 มี.ค. 2564
สำหรับมาตรการดังกล่าวต่อเนื่องมาจากโครงการเกษตร 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี ที่ ธ.ก.ส.. ดำเนินการมา 3 ปีก่อนหน้านี้ คาดว่าสิ้นปีบัญชีเดือน มี.ค. 2561 จะปล่อยกู้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ถึง 6 หมื่นราย ซึ่งมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็น พีแอล) 0.29%
อย่างไรก็ตาม โครงการใหม่จะมีการปรับขยายวงเงินสินเชื่อจากเดิมไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท เนื่องจากมีสหกรณ์และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรบางรายมีศักยภาพที่จะกู้ได้ โดยโครงการที่ผ่านมามีผู้กู้เต็ม 10 ล้านบาท ถึง 100 ราย ในจำนวนนี้มาขอกู้เพิ่มในโครงการใหม่
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธนาคารยังได้เตรียมวงเงินเชื่อ 4.5 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับรัฐบาล 3.9 ล้านคน ตอนนี้มีเกษตรกรมาลงทะเบียนเพื่อรับการฝึกอาชีพแล้ว 2 ล้านคน หรือ 50% หลังจากฝึกอาชีพหากต้องการเงินทุนก็สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีวงเงินสินเชื่อ สีเขียว วงเงิน 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรปลอดสารพิษ อายุโครงการ 3 ปี เริ่มปล่อยกู้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 โดยเกษตรกรรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1 หรือ 6% และกรณีสถาบัน MLR-0.5 หรือ 4.5%
ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ใน "โครงการชำระดีมีคืน" โดยคืนดอกเบี้ยเงินกู้ 30% ให้กับพี่น้องเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 พ.ย. 2560 ไม่เกิน 3 แสนบาท จำนวน 2.3 ล้านราย รวมต้นเงินกู้ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2561 ซึ่งการคืนดอกเบี้ยตามโครงการดังกล่าว เมื่อคิดกลับคืนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เกษตรกรได้รับจะอยู่ที่ 4.9% เป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารต้องจ่ายคืน 4,620 ล้านบาท
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ขณะนี้หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของธนาคารอยู่ที่ 5.1% คาดว่าปิดบัญชีของธนาคาร วันที่ 31 มี.ค. 2561 จะอยู่ที่ 4% เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บผลผลิตราคาข้าวหอมราคาดีตันละ 1.7 หมื่นบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้มาชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวของธนาคารปี 2560/2561 ตั้งเป้าไว้ 2 ล้านตัน ตอนนี้มีเกษตรกรมาขอสินเชื่อแล้ว 6 แสนตัน
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 ก.พ. 2561