" ทีดีอาร์ไอ" เปิดตัวเลขเกษตรกรมีหนี้สินสูงกว่า รายได้ 25.5 เท่า และมีแนวโน้มสูงขึ้น จากหนี้นอกระบบ ส่งผลให้เกษตรกรอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญเสียที่ดิน ภาพรวมร้อยละ 45 หรือ 10.4 ล้านคนเกษตรต้องเช่าที่ดิน
วันนี้ (20 ก.พ.2561) จากงานสัมมนาวิชาการสาธารณะเรื่อง “การปรับตัวของชาวนาไทย เป็นไปได้บนเส้นทางที่ยั่งยืน” เพราะในอนาคต เกษตรกรต้องเจอกับความท้าทายใหม่ การปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ของโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องรับมือ
โดยมีข้อมูลจากทีดีอาร์ไอ เมื่อปี 2558 พบว่าเกษตรกรมีหนี้สินสูงกว่า รายได้ 25.5 เท่า และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ภาวะการเป็นหนี้ โดยเฉพาะ หนี้นอกระบบ ส่งผลให้เกษตรกรอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญเสียที่ดิน ปัจจุบัน ภาพรวมของไทยพบว่า เกษตรกรร้อยละ 45 หรือ 10.4 ล้านคน ต้องเช่าที่ดินทำการเกษตร
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันคลังสมอของชาติ กล่าวว่า จุดอ่อนของชาวนาไทย คือ ก้าวไม่ทันการปรับตัวในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ขาดการจัดการไร่นาเชิงธุรกิจ ส่งผลให้การกู้ยืมเงิน ขอสินเชื่อสร้างหนี้มากกว่า การสร้างผลผลิต ขณะที่ผลผลิตก็ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานกฎกติกาการค้าใหม่ เข้าไม่ถึงกลไกตลาด และไม่มีอำนาจการต่อรอง การนำความล้มเหลวในอดีตมาปรับใช้ และเลือกใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์เข้ามาตอบโจทย์
โดยเฉพาะกรณีมีที่ดินน้อย และผลผลิตสูง ที่ลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืช ตลอดจนการเลิกกู้หนี้ยืมสินจากแหล่งเงินทุนนอกระบบ แต่ควรกู้เงินจากการจัดตั้งกลุ่มออมทรัย์ของชาวนา เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจัดการกองทุนของตนเองภายในเครือข่าย และสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายชาวนาด้วยกัน
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท ระบุว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไทย รวบรวมข้อ มูลงานวิจัยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พยายามปรับตัว แต่การไม่หลุดออกจากปัญหาที่ดิน และหนี้สิน คือ ตัวฉุดรั้งสำคัญ ที่ทำให้พวกเขา ไม่สามารถพัฒนาสู่การทำเกษตรบนเส้นทางที่ยั่งยืนได้อย่างเต็มตัว จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง มีการสนุบสนุนทั้งองค์ความรู้และกำลังใจ ในการเดินหน้าทำการเกษตรวิถีอินทรีย์
ท่ามกลางปัญหาหนี้สิน และที่ดิน เพราะที่ผ่านมานโยบาย ที่นำมาใช้แก้ปัญหาส่วนใหญ่ เป็นนโยบายระยะสั้นปีต่อปี ส่งผลให้เกษตรกรปรับตัวไม่ทัน จึงต้องการเห็นนโยบายระยะยาว ที่สนับสนุนทั้งการผลิต และการตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ด้วยการจูงใจ ให้เกษตรกร ทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเงินทุนจากรัฐ ไปพร้อมกับการส่งเสริมศักยภาพชาวนาในระยะยาว โดยเริ่มจากการช่วยชี้แนวทาง และร่วมกันวิเคราะห์บทเรียนสู่การใช้ชีวิตบนเส้นทางที่ยั่งยืนได้จริง
เพราะสุดท้ายหากชาวนาไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ก็คงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน ที่จำทำให้พวกเขา มีศักดิ์ศรีของความภูมิใจในเกษตรกรชาวนาไทยอย่างแท้จริง