แฟ้มภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว
“กรมการค้าต่างประเทศ” เผยผลสำเร็จการใช้เงินกองทุน FTA แค่ 5.31 ล้านบาท พลิกชีวิตเกษตรกรวาวี ดันราคา ‘ชาวาวี’ พุ่ง 100 เท่า กก.ละ 3,000 บาท รุกตลาดจีนขึ้นแท่นสุดยอดชาโลกได้สำเร็จ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2561 ได้เดินทางลงพื้นที่ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าชา ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตชาดอยตุงและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตชาวาวี ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) รวม 5.31 ล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2552-2553 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เยียวผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี
“ก่อนที่กรมฯ จะเข้ามาช่วยเหลือด้วยเงินกองทุน FTA ราคาชาอบแห้งอยู่ในระดับต่ำมาก กก.ละ 30 – 40 บาทเท่านั้น ไม่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ แต่หลังจากที่กองทุน FTA เข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่มีรายได้จากการปลูกและจำหน่ายชาปัจจุบันเพิ่มขึ้น 10 เท่าไปจนถึง 100 เท่า โดยราคายอดชาอบแห้ง กก. ละ 3,000 บาท ยอดชาอบแห้งติดใบ 1 ใบ กก.ละ 2,000 – 2,500 บาท ส่วนยอดชาอบแห้งติดใบ 2 ใบ กก. ละประมาณ 350 – 700 บาท เพราะสามารถขยายการส่งออกไปสู่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีการบริโภคใบชาได้สำเร็จ” นายอดุลย์กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถขยายธุรกิจโดยการสร้างโรงอบใบชา และนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่า 2 – 3 ล้านบาท เพื่อมาผลิตชาที่มีคุณภาพ จนทำให้รายได้จากการจำหน่ายชาและการส่งออกชาปีละเป็นร้อยล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกชาที่เข้าร่วมโครงการ 124 คน จากชุมชนผู้ผลิตชาคุณภาพ ปลอดภัย ดอยวาวี อำเภอแม่สรวย และสหกรณ์สวนชาดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ (Organic Thailand) 26 ราย รวมพื้นที่ปลูก 232 ไร่ และได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์สหภาพยุโรป (EU) กลุ่มเกษตรกรจำนวน 66 ราย รวมพื้นที่ปลูกชา 2,702 ไร่
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นชาวาวี นอกจากเป็นชาอินทรีย์แล้ว พื้นที่ดอยวาวียังเป็นแหล่งปลูกชา “อัสสัม” คุณภาพดี โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีต้นชาอัสสัมที่มีอายุมากกว่าร้อยปี และมีบางต้นที่มีอายุถึงหนึ่งพันปี แต่ที่โดดเด่นที่สุดที่พื้นที่อื่นไม่มี คือ บริเวณนี้มีน้ำใต้ดินที่เป็นน้ำแร่คุณภาพสูง ส่งผลให้ชาอัสสัมที่ผลิตได้มีคุณภาพสูงมาก ซึ่งทางกลุ่มพ่อค้าชาชาวจีนได้เคยเก็บตัวอย่างใบชาสดและชาอบแห้งไปวิเคราะห์คุณภาพ พบว่า ชาวาวีเป็นยอดชาที่มีคุณภาพมากที่สุด จึงทำให้ชาวาวี เป็นที่ต้องการของตลาดจีนอย่างมาก
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 ก.พ. 2561