ภาคเกษตรชูผลขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ปี 60 เกษตรกรตอบรับ หนุนสร้างเครือข่าย เพิ่มช่องทางตลาดทุกภูมิภาค แถมยังช่วยเปิดโอกาสช่องทางตลาดระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ เกษตรกรสามารถพัฒนาต่อยอดการผลิตสู่ตลาด เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
ทั้งนี้นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประเมินการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ปีงบประมาณ 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ ปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าผลิตผล ผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรอินทรีย์ และสินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งปีงบประมาณ 2560 ดำเนินการในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยผลการสำรวจเกษตรกรในพื้นที่ 4 ภาค 17 จังหวัด พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 36,149 ราย รวมพื้นที่ 126,870 ไร่ เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้ 14,928 ราย คิดเป็นร้อยละ 103 ของเป้าหมาย ความรู้ที่ถ่ายทอดให้เกษตรกร ได้แก่ การเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การผลิตพืช/ปศุสัตว์/ประมงตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การผลิตตามกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์
นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อว่า เกษตรกรนำความรู้ไปปฏิบัติในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต 2,346 ราย คิดเป็นร้อยละ 101 ของเป้าหมาย ได้แก่ ปุ๋ยหมักและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ พันธุ์หม่อน เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด (ปอเทือง ถั่วพร้า) เมล็ดพันธุ์ผัก พันธุ์ไก่ไข่อินทรีย์ และวัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ โดยมีการพัฒนาเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตามเป้าหมาย 180 ราย และตรวจรับรองมาตรฐาน 21,495 ราย ร้อยละ 120 ของเป้าหมาย
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปอีกว่า ด้านผลผลิต พบว่า เกษตรกรก่อนเข้าโครงการ ได้ผลผลิตข้าวแบบทั่วไป 405.10 กิโลกรัม/ไร่ และเมื่อเข้าร่วมโครงการ พบว่า ปีแรกได้ผลผลิตข้าวอินทรีย์เฉลี่ย 303.85 กิโลกรัม/ไร่ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบเกษตรกรที่มีประสบการณ์ผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ผลผลิตสูงถึงเฉลี่ย 412.31 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งมากกว่าการผลิตข้าวแบบทั่วไป ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ในระยะต่อมาจะมีผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าข้าวทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรรายใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องจนมีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากจะส่งผลให้ผลผลิตสูงขึ้นอย่างแน่นอน และได้ราคาสูงกว่าราคาข้าวทั่วไปเฉลี่ย 2 – 8 บาท/กิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้าว
นายวิณะโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการพัฒนาต่อยอดการผลิตสู่ตลาด มีเกษตรกรได้หันมารวมกลุ่มแปรรูปผลผลิต ได้แก่ การแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร การทำน้ำมัลเบอร์รี่ และแยมจากผลหม่อนสด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาตลาดสีเขียว 17 แห่ง พัฒนาโรงสีข้าวอินทรีย์ 2 แห่ง และจัดสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด ระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการใน 4 ภาค มีเกษตรกรเข้าร่วมสัมมนา 494 ราย ผู้ประกอบการ 23 แห่ง และผู้รวบรวมท้องถิ่น 15 ราย เกษตรกรมีมูลค่าการจำหน่ายสินค้า 2.856 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก ซึ่งการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระยะต่อไป หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมบูรณาการงานโครงการร่วมกันยิ่งขึ้นในการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายเดียวกัน รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุนเกษตรกรให้คลอบคลุมครบถ้วนทุกด้าน นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่น ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง มหาดไทย และกระทรวงกลาโหม และยังมีแผนการประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้ผู้บริโภครับทราบมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะส่งผลให้การผลิตและตลาดของเกษตรอินทรีย์กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป เลขาธิการ สศก. กล่าวส่งท้าย
ที่มา : เชียงใหม่นิวส์ วันที่ 2 ก.พ. 2561