รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้มุมมองเกี่ยวกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ และโมเดลการพัฒนาเมืองตามแนวคิดของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ว่า เคยได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้กับเจ้าสัวธนินท์ และเคยไปเยี่ยมชมโครงการเมืองเกษตรของ ซี.พี. ที่เขตผิงกู่ เมืองปักกิ่ง ประเทศจีนแล้ว
เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มาก ผลิตไก่ไข่ได้ถึงวันละ 3 ล้านฟองรูปแบบการดำเนินโครงการนี้เป็นการตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture)ระหว่าง ซี.พี.ในจีน โดยมีรัฐบาลจีนเข้ามาร่วมถือหุ้น และให้การสนับสนุนในการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการรวมกลุ่มในลักษณะสหกรณ์ เพราะประเมินว่าแรงงานเกษตรจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.นิพนธ์เห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์โครงการลักษณะนี้ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไทยเป็นรายย่อยถึง 90% แรงงานภาคเกษตรลดลงอย่างมาก แต่หากมีการร่วมทุนระหว่างเอกชนและเกษตรกร และแบ่งประโยชน์กัน จะช่วยให้สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากจะทำให้ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ส่วนผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ในแง่ราคาสินค้าลดลง
อย่างไรก็ตาม ไทยและจีนมีเงื่อนไขต่างกันหลายด้าน เช่น ในจีน รัฐบาลถือครองที่ดินทั้งหมด เกษตรกรเช่าที่ดินจากรัฐ แต่ในประเทศไทยที่ดินเป็นของเกษตรกร ถ้ารวมที่ดินเป็นแปลงใหญ่แล้วมีการใช้ประโยชน์อาจเกี่ยวข้องกับ “อิสรภาพของเกษตรกร” เช่น หากรวมที่แล้วเกษตรกรรายหนึ่งไม่ต้องการทำนาหรือให้เช่า จะขายที่ดินได้หรือไม่ จะเกี่ยวกับกฎหมายให้เช่าที่ดินต้องปรับหรือไม่ ประเด็นนี้หน่วยงานรัฐต้องปรับบทบาทเข้ามาดูแล วางนโยบายบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรที่เข้าร่วมและไม่ร่วมโครงการ รวมถึงระบบสาธารณูปโภค การวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนด้วย ที่สำคัญรัฐต้องให้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสชัดเจน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 7 ม.ค. 2561