ผลงานเด่นด้านข้าวของรัฐบาล คสช. ต้องยกนิ้วให้เรื่องระบายสต๊อกข้าวจำนำหลายล้านตันได้สำเร็จ เพื่อให้ราคาข้าวกลับเข้าสู่ภาวะที่เป็นจริง ไม่มีสต๊อกจำนวนข้าวมหาศาลมาบิดเบือนการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า
ข้าวเก่าในสต๊อกหมดไปแล้ว...แต่เหตุไฉนปีที่แล้ว ชาวนากลับขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวชั้นดีของไทย ได้ราคาแค่ตันละ 8,000-9,000 บาท ไม่ถึงหลักหมื่น
สาเหตุที่ราคาข้าวในประเทศช่วงที่ผ่านมาไม่แตะหลักหมื่น ส่วนหนึ่งมาจากการเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) นำพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวปทุม และข้าวหอมจังหวัดมารวมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมทั้งหมด เลยทำให้ตัวเลขผลผลิตข้าวหอมมะลิไทยมีปริมาณมากเกินความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลาดโลกเลยประเมินว่าข้าวหอมมะลิล้นตลาด ราคาต้องตกลงมาแน่ เลยทำให้การตั้งราคาซื้อขายต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจน การแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวแต่ละประเภทแต่ละชนิด ต้องทำให้ชัดเจนว่าเราปลูกพันธุ์ไหน พื้นที่เท่าไร ไม่ใช่เอาพื้นที่ทั้งหมดมาเหมารวมกันอย่างนี้ ไม่เพียงจะทำให้ตลาดโลกมองข้าวไทยผิดเพี้ยน และยังส่งผลให้การบริหารจัดการข้าวแต่ละปีของหน่วยงานราชการเองพลอยมั่วไปด้วย”
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ชี้เห็นถึงเหตุผลเบื้องแรกที่ทำให้ชาวนาขายข้าวชั้นเลิศได้ราคาต่ำ ส่วนอีกเหตุผลมาจากทุกวันนี้มีหลายประเทศหันมาส่งออกข้าวในตลาดโลก มาแข่งขันกับไทยมากขึ้น
โดยเฉพาะประเทศเคยผลิตได้ไม่พอบริโภคในประเทศ ได้พัฒนาตัวเองเป็นผู้ส่งออกข้าวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว...
พม่า เดิมเคยส่งออก 2 แสนตัน ปี 2559 ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านตัน...กัมพูชา เคยส่ง 3.68 แสนตัน เพิ่มเป็น 1.35 ล้านตัน...ยังไม่นับ เวียดนาม อินเดีย ที่เดิมปลูกข้าวไม่พอกิน แต่มาเดี๋ยวนี้ส่งออกได้มากสูสี แย่งตำแหน่งแชมป์ส่งออกกับไทยได้แล้ว
เมื่อแต่ละประเทศผันตัวเองเป็นผู้ส่งออกมีมากขึ้น ปริมาณข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้น เลยกดดันให้ข้าวไทยเจ้าเก่า ที่ตั้งราคาแพงต้องดั๊มพ์ราคาลงเพื่อชิงลูกค้ารักษาตลาดไว้
ปี 2560 ที่เพิ่งจะผ่านมา เรามีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเพาะปลูก ผลผลิตมีมากขึ้น ราคาข้าวน่าจะลดลง...แต่ทำไม ราคาข้าวหอมนาปี 2560/61 ถึงดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 12,000-13,000 บาท
นั่นเพราะความจริงปรากฏออกมาให้เห็นว่า ผลผลิตข้าวหอมมะลิไทยมิได้มีมากล้นเหมือนที่ สศก.รายงาน
และเมื่อราคาข้าวหอมดีดขึ้นมาอย่างนี้ ผลที่ตามมาราคาจะเป็นสิ่งจูงใจให้ชาวนาแห่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น รัฐบาลเลยกังวลหากมีการปลูกข้าวนาปรังปี 2561 มากขึ้น จะไม่เป็นผลดี เพราะกลัวข้าวจะล้นตลาด และต้นทุนการทำนาของไทยสูง ไม่สามารถตั้งราคาส่งออกแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้
“รัฐบาลต้องการให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง แต่จะให้ชาวนาทำมาหากินอะไรแทนปลูกข้าว มาตรการ โครงการที่จะออกมารองรับในการลดปลูกข้าวนาปรัง ทั้งการปลูกพืชระยะสั้น หรือพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดิน มีแต่ส่งเสริมให้ปลูก แต่ไม่มีการตลาดที่ชัดเจน ชาวบ้านไม่รู้ว่าปลูกแล้วทำแล้วไปขายที่ไหน นอกจากนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวไม่ได้ผลแล้ว ยังสร้างปัญหาให้รัฐต้องมาแก้อย่างไม่รู้จบ”
นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ชี้ว่า หนทางที่จะให้ชาวบ้านลดพื้นที่ปลูก ต้องส่งเสริมให้ชัดเจน ต้องมีการศึกษาสภาพดินที่ส่งเสริมปลูกพืชชนิดอื่น ศึกษาตลาดรับซื้อ อย่าทำเหมือนเช่นที่ผ่านมา
“เราต้องยอมรับความจริง ที่ชาวนาไทยยังอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะนโยบายหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย แต่เป็นเพราะชาวนาบ้านเราโชคดี ที่ประเทศไทยมีสภาพภูมินิเวศดี เหมาะสมกับการปลูกข้าวหอมมะลิ มีธรรมชาติเป็นตัวบังคับทั้งการระเหยของน้ำ และสภาพอากาศที่เย็นลง ทำให้ข้าวมีกลิ่นหอม ทุกวันนี้จึงไม่มีชาวนาประเทศไหนปลูกข้าวหอมมะลิได้ดีเท่าเรา แม้แต่กัมพูชา มีสภาพพื้นที่คล้ายเรา ตั้งอยู่ในทำเลใกล้กับไทยแถมยังเคยได้รับรางวัลข้าวมีกลิ่นหอม จากการประกวดเมื่อปี 2556”
แต่วันนี้ตลาดโลกรู้แล้วว่า ข้าวหอมจากกัมพูชามีดีแค่นุ่ม...เรื่องกลิ่นหอมยังสู้เราไม่ได้
รศ.สมพร ยังย้ำอีกว่า แม้ข้าวหอมมะลิไทยจะให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำก็จริง แต่หากจัดการดีๆ ควบคุมราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด ชาวนาอยู่ได้แน่นอน
และหนทางที่จะทำให้ไทยกลับมายิ่งใหญ่ทั้งในเรื่องคุณภาพ ราคา และแชมป์ส่งออก...ต้องควบคุมคุณภาพผลผลิต ดูแลตั้งแต่ความบริสุทธิ์พันธุ์ข้าว และภาครัฐต้องลงทุนหานวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมาให้ชาวนา
เพราะต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าวไทยคุณภาพด้อยลง...มาจากการเก็บรักษาข้าวหลังเก็บเกี่ยวที่ขาดหลักวิชาการ เลยทำให้สารความหอม (2AP) ในข้าวจางลง
วันนี้ภาครัฐควรให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เชื่อว่าต่อไปในอนาคต หลายประเทศโดยเฉพาะตลาดระดับบน (High-end market) ตลาดลูกค้าชั้นดี มีกำลังซื้อสูง ต้องแข่งจองซื้อขายข้าวหอมมะลิคุณภาพล่วงหน้าจากไทยอย่างแน่นอน
แต่จะถึงฝั่งฝันนั้นได้ รัฐบาล นักการเมือง ต้องหยุดใช้ข้าวเป็นเครื่องมือในการหาเสียง เล่นเกมการเมืองซะที.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 5 ม.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.