จีรพันธ์ อัศวะธนกุล
“สมาคมประกันวินาศภัยไทย” รายงานผลการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับ “เกษตรกร” ที่ทำ “ประกันภัยข้าวนาปี” ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2560 ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.58 ล้านราย มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 23.7 ล้านไร่
สมาคมฯได้ประสานงานกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนและพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหาย เพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง
จีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย บอกว่า สมาคมฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี โดยมีบริษัทประกันภัย 24 บริษัท ร่วมรับประกันภัยในโครงการนี้ ได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายแล้ว 718.8 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 570,511 ไร่
ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีรายละเอียดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแยกตามจังหวัดที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร 172,872,618.42 ล้านบาท...นครสวรรค์ 88,645,637.92 ล้านบาท...มหาสารคาม 85,104,632 ล้านบาท...ร้อยเอ็ด 54,966,975.77 ล้านบาท...ขอนแก่น 53,999,837.48 ล้านบาท และ จังหวัดอื่นๆรวมกันอยู่ที่ 263,254,435.96 ล้านบาท
วิธีการประเมินความเสียหายของโครงการฯ จะใช้วิธีเดียวกันกับการให้ความช่วยเหลือ “ผู้ประสบภัย” ของรัฐ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะเป็นหลักในการประเมินความเสียหาย เพื่อให้คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (กชภอ.) รับรองตามแบบรายงานความเสียหายของรัฐ
ดังนั้น “เกษตรกร” ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ จำนวน 1,113 บาทต่อไร่ และค่าสินไหมทดแทน จำนวน 1,260 บาทต่อไร่ รวมเป็น 2,373 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 59.3 ของต้นทุนการปลูกข้าวทั้งหมด
โดย “ต้นทุน” การเพาะปลูกเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 4,000 บาทต่อไร่
จีรพันธ์ ย้ำทำความเข้าใจว่า เกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวนาปีจะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ วงเงินความคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ ทั้งหมด 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่นภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้
โดยมีข้อแม้ว่า...จะต้องอยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ
สำหรับกรณีเกิดความเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินความคุ้มครองจะอยู่ที่ 630 บาทต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบสถานะการประกันภัย และสถานะการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ง่ายและรวดเร็ว จากระบบออนไลน์เคลมแอพพลิเคชั่น “มะลิ” ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ที่ rice.tgia.org ตลอด 24 ชั่วโมง
หรือสอบถามสายด่วนประกันภัยข้าวนาปี โทร. 06-1404-4422
“ปีนี้การพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากเราได้พัฒนาระบบการเชื่อมข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปีกับ ธ.ก.ส. และเชื่อมข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร...รายงานข้อมูลความเสียหายรายแปลงในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ กับกรมส่งเสริมการเกษตร จึงทำให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์พร้อมในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว”
พร้อมกันนี้ สมาคมฯยังได้ร่วมกับสำนักงาน คปภ. เดินสายลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการที่ผ่านมา พร้อมกับจัดอบรมโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2560” รวม 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และสงขลา
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับตัวแทนหน่วยงานต่างๆในแต่ละพื้นที่ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอำเภอ อบต. ธ.ก.ส. คปภ.จังหวัด รวมถึงประชาสัมพันธ์จังหวัด...สื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อนำความรู้ด้านประกันภัยไปถ่ายทอดกับเกษตรกรในพื้นที่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และ...ประโยชน์ของการนำเอาระบบการประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง
เพื่อบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติต่างๆ สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
พลิกแฟ้มช่วงเดือนตุลาคม ย้อนดูรายงานข้อมูลการรับประกันภัยในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2560 ของทุกภาค ยกเว้น “ภาคใต้”...ที่จะสิ้นสุดการรับประกันภัย ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560
ปรากฏว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.58 ล้านราย มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 23.7 ล้านไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 2,137 ล้านบาท
จากสถานการณ์ฝนตกหนักเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก
การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม ครั้งที่ 1 นี้ มียอดค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งสิ้น 224,863,816.04 บาท มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรวม 178,463.34 ไร่ มีเกษตรกรได้รับความเสียหายจำนวน 22,423 ราย โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายสูงสุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่
1) จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 44,665 ไร่ ค่าสินไหมทดแทน 56,277,991.51 บาท (25%) 2) จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 36,973 ไร่ ค่าสินไหมทดแทน 46,585,915.28 บาท (21%)
3) จังหวัดสกลนคร จำนวน 34,671 ไร่ ค่าสินไหมทดแทน 43,685,299.51 บาท (19%) 4) จังหวัดนครพนม จำนวน 19,545 ไร่ ค่าสินไหมทดแทน 24,626,499.53 บาท (11%)
5) จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 18,433 ไร่ ค่าสินไหมทดแทน 23,226,043.81 บาท (10%) และพื้นที่อื่นๆ จำนวน 24,176 ไร่ ค่าสินไหมทดแทน 30,462,066.40 บาท (14%)
ทั้งนี้ สมาคมฯได้ทำการจ่ายค่าสินไหมทดแทนครั้งที่ 1 ให้กับเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปแล้ว
จีรพันธ์ บอกอีกว่า สำหรับที่มาของโครงการประกันภัยข้าวนาปีนั้น เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากภัยพิบัติ แต่จำนวนเงินชดเชยดังกล่าวไม่เพียงพอต่อต้นทุนการเพาะปลูกข้าว จึงมีแผนที่จะสร้างระบบประกันความเสี่ยงทางการเกษตร
คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2554 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยร่วมกันรับประกันภัย โดยได้เริ่มดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี มาตั้งแต่ปีการผลิต 2554 จนถึงปัจจุบัน
“ข้าวนาปี”...เป็นข้าวที่ปลูกระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูการทำนาปกติ พันธุ์ข้าวนาปีจะออกดอกตามวัน...เดือนที่ค่อนข้างตายตัวพร้อมกันหมด เนื่องจากช่วงแสงต่อวันบังคับ
“โครงการประกันภัยข้าวนาปี” เป้าหมายสำคัญคือลดความเสี่ยงของชาวนา...สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกข้าว “ชาวนาไทย”.
ที่มา :ไทยรัฐ วันที่ 21 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.