ขีดเส้นตาย 3 เดือนต้องเห็นผลงานเป็นรูปธรรม ไม่เข้าเป้าพร้อมโยกย้ายในทันที ประกาศิต "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ให้ไว้กับข้าราชการหน่วยงานในสังกัด สำหรับนโยบายแก้จนของรัฐบาลที่พยายามเร่งแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินเกษตรกร โดยการผุด “คลินิกเกษตรแก้จน” เป็นความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อแก้หนี้สินและฟื้นฟูรายได้เกษตรกรทั่วประเทศ โดยยึดตามการขึ้นทะเบียนของผู้มีรายได้ในโครงการสวัสดิการภาครัฐที่กระทรวงการคลังไปดำเนินการรับขึ้นทะเบียน มา 11.4 ล้านราย พบว่าเป็นเกษตรกรที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000-100,000 บาท จำนวน 3.96 ล้านราย โดยจะสรุปเป็นแพ็กเกจใหญในวันที่ 28 ธันวาคมนี้
โดยเกษตรกรกลุ่มนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปดูแลบรรเทาความเดือดร้อนด้านหนี้สินและฟื้นฟู ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงพาณิชย์ ทำแพ็กเกจเชิงรุกเข้าหาเกษตรกร โดยให้กระทรวงมหาดไทย แยกข้อมูล 3.96 ล้านรายนี้ เป็นรายพื้นที่ เช่น จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เป็นต้น จากนั้นให้พิจารณาเป็นรายบุคคล ถึงสาเหตุความจน ภาระหนี้สินของเกษตรกรทั้งในและนอกระบบ วางแนวทางแก้ไข กรณีที่เป็นหนี้สินกับธ.ก.ส. จะใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้โดยรัฐบาลมาช่วยด้านอัตราดอกเบี้ย กรณีที่เป็นหนี้นอกระบบอาจใช้แนวทางเจรจาและมีการฟื้นฟูอาชีพและรายได้ผ่านคลินิกเกษตรต่อไป
“หลังจัดการหนี้สินและรู้ถึงสาเหตุความยากจนแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอาชีพรายบุคคล โดยการฟื้นฟูหนี้อาจจะใช้เวลา 3-5 ปี กว่าจะฟื้นตัว เป้าหมายเมื่อทำแล้วเกษตรกรดีขึ้นทุกด้านจะกลับมาจนเหมือนเดิมอีกไม่ได้ ซึ่งการฟื้นฟูนี้กระทรวงเกษตรฯ มีเครื่องมือพร้อมให้การช่วยเหลือผ่าน “คลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ในคลินิกเกษตรจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านดิน น้ำ พืช การเลี้ยงสัตว์และประมง สามารถให้คำแนะนำและช่วยเหลือเกษตรกรได้ทุกด้าน ”ลักษณ์ วัจนานวัช รมช.เกษตรฯ กล่าว
สำหรับการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรจะต้องดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นในอาชีพก่อนเข้าสู่เกษตรธุรกิจ ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีด้านการเกษตร สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดในและต่างประเทศ นี่คือเป้าหมายสูงสุดที่จะสามารถแก้ไขความยากจนได้อย่างยั่งยืน
“เมื่อรู้ว่าใน 1 หมู่บ้านมีเกษตรกรยากจนจำนวนเท่าไหร่ กระทรวงเกษตรฯ จะมีคลินิกแก้ไขปัญหาความยากจนเข้าไปช่วย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ธ.ก.ส. มหาดไทย ไปชี้แนะ ดูแลว่าจนเพราะอะไร โดยกระทรวงเกษตรฯ จะใช้แนวทางเกษตรทฤษีฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง เข้าไปแนะนำ เช่น เกษตรกรมีรายได้เดือนละ 3,000 บาท แต่มีโทรศัพท์มือถือหลายหมื่นบาท คลินิกเกษตรเคลื่อนที่จะเข้าไปชี้แนะว่าเขาควรทำอะไรให้เพิ่มเพื่อไม่ให้เกิดหนี้หรือลดค่าใช้จ่าย”
ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดยรมว. “กฤษฎา บุญราช” จะเรียกประชุมผู้บริหารจัดทำแผนเร่งด่วนร่วมกับพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ เพื่อผลักดันปัญหาราคาสินค้าเกษตรแบบครบวงจร ทั้งราคายางพารา ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลังและผลไม้ โดยจะสรุปรวมเป็นแพ็กเกจใหญในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นประธาน ส่วนยางพารานั้นจะมุ่งแก้ปัญหาด้านราคาใน 3 มาตรการหลัก (อ่านในล้อมกรอบ) ซึ่งจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (19 ธ.ค.) ด้วย
เคาะ3มาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
สำหรับ 3 มาตรการหลักในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่กระทรวงเกษตรฯ นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 19 ธันวาคมนี้ ประกอบด้วย
1.อนุมัติวงเงินสินเชื่อวงเงิน 2 หมื่นล้านเพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางที่ต้องการซื้อยางแห้งไปใช้เพื่อการแปรรูปโดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% แต่ไม่เกิน 600 ล้านบาท มีเป้าหมายปีละ 5-6 แสนตัน ซึ่งกจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ
2.เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในส่วนของหน่วยงานราชการต่างๆ ในปีงบประมาณ 2561 เพิ่มเป็น 1.8 แสนตันจากเดิมที่ต้องการใช้เพียง 8-9 หมื่นตัน โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างและซ่อมแซมถนนที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการผสมยางพาราได้ในสัดส่วน 3-20% โดยการใช้ยางพาราในส่วนนี้จะมีการกำหนดในทีโออาร์ว่าให้มีการซื้อน้ำยางพาราจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อไม่ให้มีการเวียนเอายางพาราเก่ามาขาย
3.งดการกรีดยางในพื้นที่ส่วนราชการทั้งหมดเป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.2561) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.2 แสนไร่ คาดว่าช่วยลดปริมาณได้ประมาณ 5,000 ตัน และเชิญชวนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางพาราอีก 2 แสนไร่ โดยรัฐจ่ายเงินชดเชยให้รายละ 4,000 บาทต่อราย โดยไม่รวมกับเงินที่กยท.สนับสนุนไร่ละ 16,000 บาทต่อไร่
สุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) กล่าวเรียกร้องรัฐบาลกรณีสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ 5 ล้านไร่ โดยให้ กยท.ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำข้อตกลงและให้เกษตรกรชาวสวนยางขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย (ป่าสงวนเสื่อมโทรมในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3-5) โดยเกษตรกรชาวสวนยางจะต้องรวมกลุ่มเพื่อใช้สิทธิชุมชน (แปลงรวม) โดยให้ลดจำนวนต้นยางเหลือ 40 ต้นต่อไร่ และให้ปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 40 ต้นต่อไร่ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่าเศรษฐกิจที่สมดุลนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่สีเขียวให้ประเทศอีกด้วย
ตั้ง5มิสเตอร์รับผิดชอบรายสินค้าเกษตร
ตามที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าจากนี้ต่อไปสินค้าเกษตรทุกชนิดต้องมีคนรับผิดชอบ โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมบูรณาการการทํางานร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งมิสเตอร์สินค้าเกษตร 5 สินค้าเกษตร ประกอบด้วย มิสเตอร์ยางพารา มิสเตอร์ข้าว มิสเตอร์ปาล์มน้ำมัน มิสเตอร์มันสำปะหลัง และมิสเตอร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้เพื่อสร้างกลไกการทํางานร่วมกันในรายสินค้า โดยกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งผู้รับผิดชอบรายสินค้าที่สามารถประสานงานและบูรณาการการทํางานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
โดยอธิบดีกรมข้าวได้รับแต่งตั้งเป็นมิสเตอร์ข้าว ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นมิสเตอร์ยางพารา ส่วนมิสเตอร์ปาล์มน้ำมัน มิสเตอร์มันสำปะหลังและมิสเตอร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ
“ในฐานะอธิบดีกรมการข้าว ทำหน้าที่เป็นมิสเตอร์ข้าวมานานแล้ว โดยการทำงานตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ขอให้มีการบูรณาการโดยขยายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อยกระดับสินค้าข้าวของไทย การที่รองนายกรัฐมนตรีสั่งให้ตั้งมิสเตอร์สินค้าเกษตรเพื่อกรณีมีปัญหาจะได้ประสานและหาคนรับผิดชอบได้” อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวย้ำทิ้งท้าย
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 19 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.