ซุ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวเจ้าสีดำมานาน 11 ปี ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ประสบความสำเร็จได้ข้าวเจ้าสายพันธุ์ใหม่ “มะลิดำ” ข้าวเจ้าสีดำพันธุ์แรกของกรมการข้าว ที่มีความหอม นุ่ม อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สูงกว่าข้าวเจ้าสีดำอื่นใดที่เคยมีในประเทศไทย
“เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวได้ทั้งนาปีและนาปรัง ให้สามารถปลูกข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารต้านมะเร็งสูง เพราะในบรรดาข้าวสีที่มีคุณสมบัติเป็นธัญโอสถในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้ามีน้อยและพันธุ์ที่มีอยู่ปลูกได้เฉพาะนาปีเท่านั้น กรมการข้าวเลยให้พัฒนาพันธุ์ข้าวธัญโอสถ ที่มีช่องทางตลาดดีกว่า ให้ปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวนา”
นายสมใจ สาลีโท หัวหน้ากลุ่มวิชาการ ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย เล่าถึงที่มาของข้าวเจ้าหอมพันธุ์ใหม่ ที่เรียกกันเองว่า “มะลิดำ” เพราะยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ...เป็นพันธุ์ข้าวที่เกิดจากข้าวหอมมะลิ 105 สายพันธุ์กลาย ไม่ไวต่อช่วงแสงเป็นแม่พันธุ์ มาผสมกับพ่อพันธุ์ ซึ่งเป็น ข้าวเหนียวดำ
ปลูกคัดเลือกพันธุ์และผสมพันธุ์ไปมามากถึง 7 รุ่น จนได้พันธุ์นิ่ง ในปี 2555 นำไปปลูกทดสอบในศูนย์วิจัยข้าวภาคอีสาน 8 แห่ง ขอนแก่น, บึงกาฬ, สกลนคร, อุดรธานี, นครราชสีมา, สุรินทร์, อุบลราชธานี และหนองคาย...ฤดูนาปรังได้ผลผลิตเฉลี่ย 542 กก.ต่อไร่ นาปี 548 กก.ต่อไร่
ปลูกในศูนย์วิจัยมั่นใจ พันธุ์นิ่งปลูกทั้งนาปีนาปรัง ปี 2558 นำไปทดสอบปลูกยืนยันผลอีกครั้งในที่นาเกษตรกร 7 จังหวัด ขอนแก่น, บึงกาฬ, สกลนคร, นครราชสีมา, สุรินทร์, ยโสธร และหนองคาย
ทั้งนาปีนาปรังได้ผลผลิตเฉลี่ย 640 กก.ต่อไร่...สูงกว่าข้าวเจ้าดำชื่อฝรั่งพันธุ์เปรียบเทียบประมาณ 10%
การออกดอกยังสม่ำเสมอ รวงข้าวสุกแก่พร้อมกัน ทำให้เก็บเกี่ยวง่ายกว่า ต่างกับพันธุ์เปรียบเทียบการสุกแก่ไม่พร้อมกันห่างกัน 2 สัปดาห์...มีความหอมเหมือนหอมมะลิ 105 ใครได้ชิมลิ้มรสจะได้ความรู้สึกเหมือนกินขนมข้าวเหนียวเปียก (ข้าวเหนียวดำราดน้ำกะทิ) ส่วนข้าวเจ้าดำพันธุ์เปรียบเทียบไม่นับเป็นข้าวหอม
คุณค่าทางโภชนาการ...ผลผลิตข้าวนาปี มะลิดำ มีสารต้านมะเร็งพอๆกับข้าวเจ้าดำชื่อฝรั่งพันธุ์ เปรียบเทียบ
แต่ถ้าเป็นนาปรัง มะลิดำกินขาด...มีแอน-โทไซยานิน C3G และ P3G สูงกว่า มีฟีนอลิก ใกล้เคียงกัน
และด้วยเป็นข้าวนุ่ม มีอะมิโรสต่ำ “หอมดำ” จึงสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ทดแทนการใช้แป้งสาลีได้มากมาย ไม่ว่า บราวนี่, คุกกี้, เค้ก รวมไปถึงผลิตเป็น “ซาโตะ” เครื่องดื่มภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่นอกจากจะให้ความสนุกสนาน ยังมีสรรพคุณของสารต้านมะเร็งผสมอยู่ด้วย.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 11 ธ.ค. 2560