“...การพัฒนาเกษตรกรรมบ้านเราไม่ได้รุดหน้าในเชิงการใช้เทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพของคน รูปแบบการผลิต การเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของเศรษฐกิจ 2.0 วันนี้ยังเป็นภาพนี้สะท้อนว่าเรายังมาไกลไม่มากนัก...”
ในปาฐกฏาพิเศษของศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ในงานเสวนา “มองการณ์ไกลประเทศไทยทิศทางเกษตรกรรมยั่งยืน” จัดโดยโครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสมพริ้งพวงแก้ว ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.60 ที่ผ่านมา
ศ.ธีรยุทธ มีมุมมองถึงประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรพอเพียง ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการมองพัฒนาการทางความคิดผ่านการมองวิถีพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม และนโยบายไทยแลนด์ 4.0
อ.ธีรยุทธ บอกว่า ประเด็นทั้งหมดนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจในแง่มุมของการพัฒนาเกษตรกรรมในบ้านเราไปด้วยกัน หัวใจสำคัญคือว่าต่อไปนี้การอยู่ในสังคมโลกยุคปัจจุบันต้องเข้าใจทั้งตัวเราและโลกไปพร้อมๆกันและต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย
เขามองเห็นถึงพัฒนาการของเกษตรกรรมบ้านเราว่าค่อนข้างชัดเจนวันนี้เรายังเป็นเพียง2.0 ย้อนกลับไปตอน1.0 เริ่มจากสมัยเราเริ่มเปิดประตูประเทศให้ตะวันตกเข้าซึ่งคือสมัยรัชกาลที่4-5 สมัยนั้นเศรษฐกิจเรากำลังเริ่มต้นขายทรัพยากรธรรมชาติเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจประเทศ มีข้าว ไม้สัก ดีบุก ยางพาราเศรษฐกิจเราอยู่ในสภาพนี้มา 2500 เป็นเวลา 100 ปีที่เราอยู่ใน1.0
ต่อมาเราพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจังสมัยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ลักษณะเด่นชัดในทางเกษตรคือพืชเชิงเดี่ยว เน้นมันสำปะหลัง ข้าวโพด
“คนรุ่นผมจำได้สมัยเรานั่นรถเมล์ตามบ้านนอกจะเหม็นลานมันสำปะหลัง บ่อที่เอาปอไปแช่ก็เหม็นซึ่งเป็นทุกข์คนละแบบ”
ในยุค2.0 ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า ได้เกิดอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น สิ่งทอ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆเป็นต้น เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อยๆเติบโตมาเรื่อยๆ ไม่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเป็นแบบนี้ดำรงเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นภาพหลักของอุตสาหกรรมบ้านเราในวันนี้ จะเป็น 3.0 มีไม่กี่ภาคส่วนเท่านั้น
อุตสาหกรรมแบบ 2.0 สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวนาที่ ศ.ธีรยุทธอธิบายคือ ชาวนาบ้านเรามีการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีค่อนข้างไว มีเรื่องพันธุกรรม มีการเลือกสายพันธุ์ มีการใช้เครื่องมือเครื่องไม้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วย ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของเศรษฐกิจ 2.0 วันนี้ยังเป็นภาพนี้สะท้อนว่าเรายังมาไกลไม่มากนัก
“เราไม่เคยเห็นภาพไร่นาบ้านเราที่ใช้เครื่องมือใหญ่ๆ เหมือนในยุโรปอเมริกา ภาพที่เห็นชินตาคือ เครื่องไถนาอุปกรณ์ทำนาสภาพความเป็นอยู่แบบเดิมๆ เกษตรกรรม 4.0 จะรู้สึกสะดุดในความคิดและภาพยังไปไม่ถึง”
ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาจารย์อธิบายว่า วันนี้เราพยายามคิดว่าจะกระโดดเป็นเสือตัวที่สี่ จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ก็เกิดความผันผวนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ภาพความฝันไม่บรรลุกลายเป็นเสือป่วยตัวที่ 4 และภาพนั้นไม่ได้จางหายไปจากสังคม
“หลังจากนั้นเราก็พบว่าการพัฒนาเกษตรกรรมบ้านเราไม่ได้มีความรุดหน้าในเชิงการใช้เทคโนโลยีปรับปรุงประสิทธิภาพ คุณภาพของคน รูปแบบการผลิต การเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ขณะที่ทุกประเทศที่เป็นพัฒนาทางเกษตรที่ดี การรวมตัวของเป็นสหกรณ์ เป็นกลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่ หมายความว่าการจะก้าวต่อไปในเศรษฐกิจเกษตรกรรมขั้นต่าง ๆ ต้องต่อเนื่องทั้งเทคโนโลยี ทั้งความรู้คุณภาพของคน มีปรัชญาที่ถูกต้อง”
ศ.ธีรยุทธ วิเคราะห์ถึงสองกระแสหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในตอนนั้นได้แก่
1. ประชานิยม คือ แทนที่เราจะยกคุณภาพของเกษตรกร เรากลับใช้การทุ่มเทเงินออกไปแจกจ่ายบ้าง ให้ชนบทบ้าง ขณะที่การพัฒนาคุณภาพของคน การรวมกลุ่มของคนไม่ได้เกิด นี่คือเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่น่าสังเกตว่าแนวนโยบายนี้ยังคงสืบเนื่องต่อมาถึงยุคนี้ หมายความว่าสิ่งที่จะเชื่อมต่อ 2.0 ไป 4.0 ไม่เกิดขึ้นมาไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเราจะก้าวมาในทางอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
2. แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลเป็นสิ่งที่มาถูกจังหวะพอดีด้วย คือ การให้เราหันมาสนใจมรดกพื้นฐานของเรา การส่งเสริมการปลูกผสมผสาน เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชสมุนไพร ราคาของสิ่งเหล่านี้ก็สูงขึ้น พอดีชาวนาไปปฏิบัติตามนี้ ฐานะก็ดีขึ้นเป็นวิสัยทันศ์ที่ถูกต้อง ถ้าใครมาในแนวทางนี้รายได้ค่อนข้างดี
มองปัจจุบันวันนี้ ศ.ธีรยุทธ ยืนยันว่าหนทางที่หลังจากเราอยู่กับสิงห์คะนองนา เรายังไม่ก้าวหน้าใน 3.0 เลยเรายังมีต้องการการแก้ไข ซึ่งคิดว่าถ้าเปรียบเทียบนโยบายประชานิยมกับเศรษฐกิจพอเพียงต่างกันมากในการที่จะไปสู่จุดของประชาชนฐานความมั่นคงของประเทศต่างกันพอสมควร เพราะฉะนั้นเราไม่เห็นกระบวนการอันนี้พอเกิดรัฐบาลคสช.พร้อมกับทีมเศรษฐกิจ ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรเทวกุล จนมาถึง ดร.สมคิดจาตุศรีพิทักษ์ก็เกิดเศรษฐกิจ 4.0 ขึ้น (อ่านประกอบ:‘ธีรยุทธ’ วิพากษ์นโยบาย4.0 คิดแบบอวิชาเขียนกม.เอื้อนายทุนเขตเศรษฐกิจ )
ศ.ธียุทธทิ้งท้ายในสองประเด็นต่อเกษตรในปัจจุบัน คือ เรื่องความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งอาจารย์มองว่าบ้านเรายังไม่น่าห่วงเท่าไร ยังกินใช้ได้ดี สามารถส่งออกได้ ต้องประคับประคอง ดูให้ดีน่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
ประเด็นที่สอง คือการพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม การจะบรรลุไปถึงจุดนั้นเราจะทำอย่างไร วันนี้ทั้งโลกให้ราคาของที่มีคุณภาพปลอดภัย เพราะฉะนั้นของที่จะมีคุณภาพสุขภาพอนามัย ความเด่นเรื่องคุณค่าเฉพาะของผลิตภันณฑ์นั้นๆ อาศัยใบบุญของตัวเอง อาศัยความพยายามที่จะใช้โอกาสของการมีทรัพย์ในดินสินในน้ำมีจิตใจที่ดีงาม
“ผมคิดว่าข้าวผักผลไม้เรามีชื่อเสียงค่อนข้างมาก ต้องเร่งทำเร่งสร้างทั้งเรื่องราวทั้งข้อมูลให้เกิดขึ้น การบรรลุสู่พรีเมี่ยมไม่ใช่เรื่องเกิดได้ง่าย ๆ ต้องใช้ความพยายามหลายส่วนมาก การนำปรัญชาที่ถูกต้องมาใช้พัฒนาเราจะก้าวไปได้จริงๆ”
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 27 พ.ย. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.