นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เพิ่มวงเงินและจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ปี 2559/2560
จากเดิม ครม.กำหนดเป้าหมายเกษตรกรไว้ 212,850 ราย เพิ่มเป็น 260,389 ราย หรือเพิ่มขึ้น 47,539 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 8,595.5 ล้านบาท และเพิ่มงบประมาณในการดำเนินโครงการโดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) 5% เป็นเวลา 2 ปี คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นอีก 859.5 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก 1,965.5 ล้านบาทต่อปี รวมระยะเวลา 2 ปี เป็น 3,931 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4,790.50 ล้านบาท “โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และไม่สามารถผลิตหรือผลผลิตเสียหาย มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งจากรายได้ปกติ ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้พักชำระหนี้ให้เกษตรกร ทั้งที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และไม่เป็นเอ็นพีแอล 222,000 ราย วงเงินพักชำระหนี้รวม 40,369 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีเกษตรกรประสงค์จะเข้าร่วมโครงการเพิ่ม กระทรวงการคลังจึงขอทบทวนมติ ครม.เพื่อให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ส่วนเกษตรกรที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ธ.ก.ส.จะรับภาระไว้เองซึ่งเพิ่มขึ้นมา 4,108 ราย”
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้ขยายเวลามาตรการการเงินการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 เพิ่มเติม โดยมี 2 มาตรการที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรการสำหรับการบริจาคที่ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล สามารถนำเงินบริจาคไปหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าของเงินบริจาค เดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2560 ครม.ได้ขยายเวลาออกไปจนถึง 31 ธ.ค.2560 ส่วนมาตรการที่ให้หักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซ่อมบ้านและซ่อมรถนั้นยังไม่หมดอายุ เพราะสิ้นสุด 31 ธ.ค.2560 โดยปัจจุบันยังมีจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด จากเดิม 23 จังหวัด สถานการณ์ได้คลี่คลายไปแล้ว 6 จังหวัด.
ที่มา ไทยรัฐ 2 พฤศจิกายน 2560