ลูกหนี้วอนแบงก์เลิกเงื่อนไขให้คนเป็นเอ็นพีแอลหลัง 1 พ.ค. 2560 เข้าคลินิกแก้หนี้ แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน
เปิดเผยว่า การหารือร่วมกันล่าสุดระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ให้คนสามารถเข้ามาร่วมได้มากขึ้น โดยปรับเงื่อนไข คือ เปิดให้คนที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หลังวันที่ 1 ต.ค. 2560ก็สามารถดูเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบแทนได้
"ถ้าปรับเกณฑ์เงื่อนไขเวลาและคุณสมบัติคนที่จะเข้ามาได้ คนที่ลำบากอีกจำนวนมากที่ผิดนัดชำระหนี้ 1-2 เดือน ยังไม่ถึง 3 เดือนซึ่งยังไม่เป็นเอ็นพีแอล หรืออีกไม่น้อยที่ผ่อนหนี้ขั้นต่ำงวดละ 10% ของยอดหนี้ที่อยากจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ จะเข้ามาร่วมได้ เพราะปัจจุบันคนกลุ่มนี้เข้ามาปรึกษาจำนวนมากแต่ก็เข้าร่วม ไม่ได้ คุณสมบัติไม่ตรง ดังนั้น ถ้าปรับเงื่อนไขได้จะช่วยขยายช่องระบาย เอ็นพีแอลออกจากระบบได้ดีขึ้น จริงอยู่ว่าในช่วงแรกๆ แบงก์เจ้าหนี้อาจมองว่าติดตามหนี้เองได้มากกว่า แถมยังมีรายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเหล่านี้อยู่ แต่อย่าลืมว่าถ้าเอ็นพีแอลออกไปได้มากภาระการตั้งสำรองหนี้ก็ลดลงกลายเป็นกำไรได้ เพราะถ้าเข้าโครงการ ธปท.ผ่อนผันการตั้งสำรองหนี้ให้ ที่สำคัญยังช่วยคนปลดเปลื้องภาระหนี้ได้จริงๆ"แหล่งข่าวระบุ
ด้าน นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการ บสส. กล่าวว่า ขณะนี้การหารือเรื่องปรับเงื่อนไขคุณสมบัติต่างๆ ของผู้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเมื่อหารือไปแล้วต้องให้เวลาธนาคารพาณิชย์และเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการกลับไปพิจารณาก่อน อย่างไรก็ดี การปรับเงื่อนไขหรือไม่นั้น ธปท.ไม่น่ามีประเด็นข้อกังวลขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เป็นหลัก ส่วนการปรับแก้กฎหมายให้ บสส.บริหารหนี้ของบริษัทผู้ให้บริการปล่อยกู้
ทั้งนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้เกิดจากความร่วมมือของ ธปท. สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และ บสส. เพื่อช่วยลูกหนี้ที่มีความตั้งใจจะปลดภาระหนี้สินได้ ซึ่งต้องคุณสมบัติ คือ 1) เป็นเอ็นพีแอล หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบกับธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารต่างประเทศก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2560 2) วงเงินหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท 3) ไม่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย สำหรับคนที่เข้าโครงการจะถูกคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 7% จากปกติ 20-28% แบ่งเป็น รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท/เดือน คิดดอกเบี้ยในการปรับโครงสร้างหนี้ที่1% รายได้ 3-5 หมื่นบาท/เดือน คิด 5% เป็นต้น
ที่มา ไทยโพสต์ 2 พฤศจิกายน 2560