ธุรกิจท่าเรือบก - รูปแบบท่าเรือบกที่จ.ขอนแก่น พื้นที่ 700 ไร่ ที่การท่าเรือฯศึกษาแล้วเสร็จ มูลค่า 3,000 ล้านบาท เตรียมเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ
การท่าเรือฯเดินหน้าโครงการท่าเรือบก ปักหมุดขอนแก่น 700 ไร่ ฮับใหญ่ภาคอีสาน เปิด PPP ดึงเอกชนร่วมทุนซื้อที่ดินและก่อสร้าง 3,000 ล้าน เริ่มสร้างปี”62
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้พัฒนาธุรกิจท่าเรือบก (dry port) เพื่อสนับสนุนการให้บริการของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างครบวงจร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถ ให้เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการขนส่ง อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนการขนส่งและสร้างความได้เปรียบให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
จากผลการศึกษามีข้อสรุปพื้นที่เหมาะสมจะพัฒนาโครงการ อยู่บริเวณสถานีรถไฟโนนพะยอม ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ประมาณ 500-700 ไร่ มีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือบก และ logistics park (นิคมอุตสาหกรรมขนส่ง) เนื่องจากอยู่ใกล้กับถนนสายหลัก หรือถนนมิตรภาพ รวมถึง จ.ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า มีสินค้าปริมาณมาก และอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีโอกาสในการดึงสินค้าส่งผ่าน (transit cargo) เข้ามาใช้บริการได้ อีกทั้งยังสามารถรองรับสินค้าจากจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และหนองคาย ได้อีกด้วย
ในส่วนการให้บริการและกิจกรรมภายในโครงการ ประกอบด้วย การบรรจุและเปิดตู้สินค้า การตรวจปล่อยสินค้าขาเข้า-ขาออก ลานตู้สินค้า ลานตู้สินค้าเปล่า ลานจอดรถบรรทุก ตรวจปล่อยสินค้าและการให้บริการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ตู้สินค้าของท่าเรือบก รวมถึงให้บริการด้าน logistics park สนับสนุนระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมจะเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมรูปแบบ PPP ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือฯ ภายในเดือน ต.ค.นี้ หากผ่านความเห็นชอบจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจัยจะนำโครงการไปสู่ความสำเร็จ คือ การสนับสนุนและการบูรณาการอย่างจริงจังของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการสายเรือ ผู้นำเข้า-ส่งออก และผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ การสร้างประสิทธิภาพในระบบการขนส่งสินค้าทางราง ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 30 ตุลาคม 2560