ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อความสามารถการชำระหนี้ของครัวเรือนภาคการเกษตร ทำให้ระดับหนี้เสียของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ณ สิ้นเดือนก.ย.2560 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5.56% จากสินเชื่อคงค้างทั้งระบบซึ่งอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีบัญชี ธ.ก.ส. (มี.ค.2560) ที่อยู่ระดับ 4.03%
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า หนี้เสียของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรหลายประเภทตกต่ำ ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงของการลงทุนปลูกผลผลิตใหม่ ทำให้ลูกหนี้มีรายได้ไม่เพียงพอมาชำระหนี้ ส่งผลต่อการผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ หนี้ที่มีการผิดนัดชำระนั้น ส่วนใหญ่เป็นการผิดนัดชำระอัตราดอกเบี้ย ส่วนการชำระเงินต้น ถือว่าอยู่ในช่วงพักชำระเงินต้นตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนมี.ค.ปีหน้า
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเชื่อว่า ในช่วงสิ้นปีบัญชี ธ.ก.ส. ซึ่งตรงกับช่วงเดือนมี.ค.ปีหน้า หนี้เสียน่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิม คือ ประมาณ 4% ซึ่งปัจจุบันได้สั่งการให้มีการติดตามการชำระหนี้ พร้อมกับ เปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้ ซึ่งผลของการปรับโครงสร้างหนี้นั้น ทำให้หนี้เสียทยอยปรับลดลง โดยในเดือนก่อนหน้า หนี้เสียปรับขึ้นไปแตะระดับ 6% ของสินเชื่อคงค้าง
สำหรับหนี้เสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่ผลิตมันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และ น้ำมันปาล์ม ซึ่งทั้งหมดนี้ราคาผลผลิตไม่ดีนัก ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น ไม่มีปัญหาด้านหนี้เสียมากนัก เนื่องจาก ราคาข้าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ส่วนเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มนั้น ได้รับทราบปัญหาจากสมาคมผู้ปลูกปาล์มว่า ขณะนี้ ปริมาณน้ำมันปาล์มในสต็อกเหลืออยู่จำนวนมากถึง 2 แสนตัน จึงได้ขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยขอให้กระทรวงพลังงานช่วยนำน้ำมันปาล์มไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทนน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องชดเชยราคาส่วนต่างให้แก่โรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ สมาคมผู้ปลูกปาล์มยังเห็นว่า กรณีที่มีการนำน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียผ่านประเทศไทยเพื่อส่งขายประเทศลาว อาจจะไม่มีการส่งไปถึงประเทศลาวจริง โดยน้ำมันปาล์มอาจจะถูกขายในไทยแทน เนื่องจาก ราคาในไทยแพงกว่าลาว ทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มของผู้ผลิตในประเทศจึงเหลือจำนวนมาก จึงเสนอให้มีการยกเลิกการนำเข้าดังกล่าว
นายอภิรมย์ ยังกล่าวถึงกรณีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้และเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลว่า นับตั้งแต่ ธ.ก.ส. เปิดดำเนินการมามีลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลประมาณ 4,000 ราย ในจำนวนนี้ มีเพียง 1 ราย ที่ลูกค้ายินดีให้ยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด โดยเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายก ซึ่งธนาคารก็ได้นำพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์เรียนรู้แก่เกษตรกรอื่นๆ อย่างไรก็ดี กว่าที่ลูกหนี้จะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
สำหรับภาพรวมสินเชื่อของธนาคารนั้น ในช่วง 6 เดือนแรก สินเชื่อขยายตัวได้ 3.3 หมื่นล้านบาท เป้าหมายสินเชื่อขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท คาดว่า จะทำได้ตามเป้าหมาย เนื่องจาก ในช่วงปลายปีจะเป็นช่วงที่สินเชื่อขยายตัวได้มาก
นายอภิรมย์ ยังกล่าวถึงยอดการเคลมประกันภัยข้าวนาปีในฤดูกาลผลิตปีนี้ว่า น่าจะมีวงเงินเคลมประกันกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่อยู่ที่ 819 ล้านบาท เป็นผลจากภัยน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่จังหวัดสกลนครเพียงจังหวัดเดียว คาดว่า จะมีนาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 9 แสนไร่ แต่ในจำนวนนี้ มีเพียง 40 % ของพื้นที่เสียหายที่ได้ทำประกันภัยผลผลิต
สำหรับปีนี้มีชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีที่ได้ลงทะเบียนกับธ.ก.ส.เพื่อทำการประกันภัยนาข้าวแล้ว 1.5 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่นาที่ทำประกัน 23.76 ล้านไร่ ซึ่งยังเหลือพื้นที่ภาคใต้ที่ยังไม่เข้าฤดูการปลูกข้าวนาปี ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ หากเทียบกับปีที่แล้ว มีพื้นที่นาข้าวที่เข้าโครงการประกันภัยนาข้าวถึง 27 ล้านไร่ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปีนี้มีที่นาถูกน้ำท่วมและพื้นที่ปลูกข้าวในปีนี้ลดลงเหลือ 53 ล้านไร่ จากปีที่แล้วที่มีพื้นที่ปลูก 56 ล้านไร่
ส่วนยอดการเคลมประกันในปีนี้ จนถึงปัจจุบันมีการเคลมประกันไปแล้ว 224 ล้านบาท เทียบกับการเคลมประกันทั้งปีที่แล้ว ที่เคลม 819 ล้านบาท คิดเป็นพื้นที่นาที่เสียหายและเคลมประกันในปีที่แล้วรวม 7.46 แสนไร่
นายอภิรมย์ กล่าวด้วยว่า ธ.ก.ส.ได้วางแผนที่จะพัฒนาโมเดลของการทำประกันภัยนาข้าว เพื่อให้การประกันภัย สามารถครอบคลุมความเสียหายของชาวนาให้ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต โดยให้ชาวนาเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกัน สำหรับการประกันส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วยตัวเอง
ในปัจจุบัน เบี้ยประกันภัยนาข้าว คิดในอัตรา 90 บาท/ไร่ โดยมีสินไหมทดแทนที่ 1,260 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตามชาวนา ได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันจากรัฐบาล 54 บาท และอีก 36 บาทนั้น ในกรณีที่เป็นลูกค้า ธกส. ธกส.จะเป็นผู้อุดหนุนให้ เท่ากับชาวนา ไม่ต้องเสียค่าเบี้ยประกันเลย
อย่างไรก็ตาม สินไหมทดแทนที่ 1,260 บาท/ไร่นั้น ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนการผลิตของชาวนา ที่เฉลี่ยต่อไร่ ที่ 4,000 บาทได้ แม้ว่า จะรวมเงินอุดหนุนที่รัฐจะจ่ายให้ ในกรณีที่พื้นที่นั้นๆถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ อีก 1,111 บาท/ไร่ก็ตาม ดังนั้น แนวคิดการทำประกันส่วนเพิ่มดังกล่าว จึงน่าจะเข้ามาช่วยรับความเสี่ยงแทนชาวนาได้มากขึ้น ทั้งนี้ สศค. มูลนิธิอาจารย์ป๋วยของ ธปท. จุฬาฯ และ ธ.ก.ส. รวมกันศึกษาเพื่อจัดทำโมเดลดังกล่าว
นอกจากการประกันภัยข้าวนาปีแล้ว ธ.ก.ส.ยังได้ศึกษาที่จะขยายการรับประกันผลผลิตอื่น โดยจะนำร่องในเรื่องการทำประกันภัยข้าวโพด ซึ่งมีโมเดลที่คล้ายการประกันภัยข้าวนาปี, การทำประกันภัยโคนม ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ เช่น การประกันผลผลิตน้ำนม หรือ การประกันภัยราคาน้ำนมดิบ เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นนโยบายของ รมว.คลัง ที่ต้องการให้ ธ.ก.ส.เร่งจัดทำระบบการประกันภัยผลผลิต ให้ครอบคลุมผลผลิตหลักของประเทศ
ที่มา คมชัดลึก 16 ตุลาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.