“สุรจิตต์ อินทรชิต” เลขาธิการ ส.ป.ก.คนใหม่ เล็งปรับแผนงาน แก้ปมงานจัดซื้อที่ดินล่าช้า ประกอบกับมีการใช้มาตรา 44 ทำให้ต้องรีบเร่งทำงานจนขาดความรอบคอบ หลังพบเกษตรกรใน 7 จังหวัด แห่คืนที่ดิน ส.ป.ก.กว่าร้อยละ 10 เพราะ จนท.ไม่ได้ชี้แจงได้ที่ดินไปแล้วต้องทำเกษตรกรรมตามที่ระบุไว้
นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก.เตรียมปรับแผนการดำเนินงานปี 2561 ให้สอดคล้อง แผนบูรณาการงบประมาณของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ “บูรณาการ” โครงการโดยมี ส.ป.ก.เกี่ยวข้องเกือบทุกโครงการ จากที่ผ่านมาพบว่า แผนการทำงาน ส.ป.ก.ยังไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ มีการละเลยหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้บทบาทหลักของ ส.ป.ก.จะต้องมุ่งไปที่การจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การเพิ่มมูลค่าที่ดินให้เกษตรกร หรือ ปัญหามาจากการจัดซื้อที่ดินของ ส.ป.ก. เกิดความล่าช้า ใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถจัดซื้อที่ดินได้ จนทำให้เจ้าของที่ดินเปลี่ยนใจไม่ขายที่ดินให้ ส.ป.ก. แต่ไปขายกับผู้อื่น “ที่ให้ราคาสูงกว่าและไม่ต้องรอนาน” ดังนั้นเมื่อตนมารับตำแหน่งใหม่ (เลขาฯส.ป.ก.คนที่ 19) จึงต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในวงที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้เร่งการดำเนินงานตามกรอบระยะเวลาในประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการยึดคืนพื้นที่ดิน ส.ป.ก. โดยประกาศฉบับดังกล่าวทำให้ ส.ป.ก.ต้องเร่งรีบทำงาน ไม่ชัดเจน และอาจขาดความรอบคอบ ดังนั้น ส.ป.ก.จึงได้ปรับแผนงานให้สอดคล้องแม่นยำและรอบคอบมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลจะมีการประกาศวันการเลือกตั้งในปลายปี 2561 ก็ไม่ถือว่า “ทุกอย่างต้องจบภายในรัฐบาลนี้” แต่ ส.ป.ก.จะทำภายใต้เงื่อนไขความรอบคอบ ถูกต้อง แม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร
ดังนั้นเมื่อการดำเนินงานของ ส.ป.ก.ไม่มีความชัดเจนจึงส่งผลให้เกิดความเร่งรีบ ทำให้การจัดสรรที่ดินมีปัญหา ซึ่งตามแผนงาน ส.ป.ก.ได้ยึดคืนพื้นที่ไปแล้วเป็นจำนวน 310,167 ไร่ เพื่อนำไปพัฒนาจัดสรรให้เกษตรกรเข้าทำกินและต้องเร่งให้เสร็จตามกรอบภายใน 2 ปี โดยส่วนแรกจัดแปลงพื้นที่แจกเกษตรกร 7 จังหวัด เนื้อที่ 30,742 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา, เชียงใหม่, กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว, ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ล่าสุดมีการจัดสรรไปแล้วทั้งสิ้น 10 แปลง แต่เนื่องจากที่ผ่านมา “อาจจะ” มีการคัดเลือกเกษตรกรที่จะได้รับแจกที่ดินด้วยความรีบร้อน ทำให้มีเกษตรกรมากกว่า 10% ขอคืนที่ดินให้ ส.ป.ก.ที่ได้รับจัดสรรไปแล้ว ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ต้องดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่จะได้ที่ดินของ ส.ป.ก.ใหม่
“ที่ผ่านมาแผนไม่ชัดเจน ตั้งแต่เรื่องของการจัดคนลงพื้นที่เกษตรที่เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ต้องมีการจัดโครงสร้างพื้นฐาน เลือกอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่อาชีพ ก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมาเพื่อบริหาร รวมถึงหาผู้จัดการโครงการ คุณสมบัติของเกษตรกรต้องไม่มีที่ดินอยู่เลย หากมีที่ดินเอาออกไป แต่ลืมชี้แจงให้เกษตรกรรู้ว่า ถ้าได้ที่ดินต้องทำเกษตรหรือทำอาชีพตามที่ระบุไว้ ซึ่งบางครั้งต้องมีการลงทุนเพิ่ม และเมื่อไม่เชี่ยวชาญอาจเกิดการละทิ้งที่ดิน เกษตรกรจึงตัดสินใจคืนสิทธิ โดย จำนวนเกษตรกรที่ถอนตัวเพราะไม่ถนัดกับอาชีพที่ส่งเสริม ประมาณ 10% จึงต้องประสานกับท้องถิ่นเพื่อบรรจุคนเข้าใหม่ เป็นผลเกิดจากภาครัฐสื่อสารไม่ครบ” นายสุรจิตต์กล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 18 ตุลาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.