พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ย.60 มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์แก่สาธารณะของประเทศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการออกคำสั่ง ที่ 31/2560 ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2560
โดยมีหลักการสำคัญให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีอำนาจยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับกิจการที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยการยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินที่มีขนาดเนื้อที่เกิน 500 ไร่ หรือระยะเวลาการขอใช้เกิน 30ปี หรือที่ดินที่รัฐได้ปรับปรุงพัฒนาเพื่อการปฏิรูปที่ดินสำหรับจัดให้แก่สถาบันเกษตรกรไว้แล้ว
ครอบคลุมกิจการ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพลังงานรวมทั้งพลังงานทดแทน ,การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และ กิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เช่น การคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ระบบโทรคมนาคม และ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามจะต้องเป็นที่ดิน ที่ไม่ใช่ที่ดินในโครงการพระราชดำริ หรืออันเนื่องจากพระราชดำริ โดยผู้ขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต้องยื่นต่อสำนักงาน สปก.จังหวัดท้องที่ แต่หากส่งผลกระทบกับสิทธิ์ของประชาชน ต้องมีการชดเชยเยียวยาตามกฎกระทรวงกำหนด ส่วนพื้นที่ที่มีหน่วยงานต่างๆเข้าไปดำเนินการ ก่อนมีกฎกระทรวงฉบับนี้ ต้องเริ่มดำเนินการยื่นคำขอภายใน 60 วันหลังกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้หลังจากที่มีการออกกฎกระทรวงฉบับนี้ให้ผู้ที่ยื่นคำขอจะได้รับความยินยอมหรืออนุญาตได้ต่อเมื่อเกษตรกรผู้จะได้รับผลกระทบในพื้นที่นั้นได้รับการเยียวยาหรือชดเชย ข้อตกลง หรือตามเงื่อนไขที่กำหนดและต้องจัดให้มีกิจกรรมเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แผนฟื้นฟูที่ดินและชำระค่าตอบแทนการใช้ที่ดินเข้าสู่กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ครม.ได้รับทราบอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) มีอำนาจอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน หรือการทำเหมือง ให้กระทำได้เฉพาะที่ไม่มีศักยภาพในการทำเกษตรกรรม หรือ สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพที่เหมาะสมทำการเกษตรต่อไปได้
ส่วนการสิ้นสุดและเพิกถอนการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน สปก.จะเกิดจากกรณีที่ไม่เยียวยาหรือชดเชยเกษตรกร หรือ ไม่ส่งมอบหลักประกัน ภายในระยะเวลาที่กำหนดขณะที่ คปก. สามารถมีมติเพิกถอนการใช้ที่ดิน สปก.ได้ในกรณีที่ ผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอื่น หรือ สิทธิตามกฎหมายอื่นสิ้นสุดลง หมดความจำเป็นในการใช้บางส่วนหรือทั้งหมด ผู้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหน้าที่เงื่อนไขที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา กรณีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม รวม 7 บริษัท ในพื้นที่ส.ป.ก. ที่ต้องหยุดผลิตมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่ง ซึ่งการประชุมหารือกันได้เสนอ 4 แนวทางให้ที่ประชุม คสช. พิจารณา คือ 1.การถอนสภาพที่ดิน ส.ป.ก. เปลี่ยนไปเป็นที่ดินราชพัสดุ กระทรวงคลัง จะเข้ามาดูแลแทน หากเป็นเช่นนั้น การจัดส่งรายได้การใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เข้ากองทุนพัฒนาเกษตรกรที่มีการจัดส่งรายได้อยู่ในปัจจุบันจะหยุดชะงักซึ่งผู้เสียประโยชน์ก็คือเกษตรกร
2. การแก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก.ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน 3. การออกระเบียบภายใต้เงื่อนไขข้อกฎหมาย ส.ป.ก.เพื่อปลดล็อกการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ตามมาตรา 19 และ 30 แต่ก็จะไม่ครอบคลุมกิจการปิโตรเลียม และ 4. การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตาม ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ในส่วนที่มีปัญหา และในที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คสช.จึงเลือกหนทางสุดท้าย
โดยคำสั่งในการออกกฎกระทรวงใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ในครั้งนี้ทำให้7 บริษัทปิโตรเลียมที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ด และบริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด
โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงาน รายงานว่า กิจการปิโตรเลียมที่หยุดผลิตในพื้นที่ ส.ป.ก. รวม 7 ราย หลังมีคำสั่งศาลฯ มาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2560 ส่งผลกระทบต่อปริมาณปิโตรเลียมที่หายไป น้ำมันดิบ 16,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 50% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบบนบก มูลค่าประมาณ 28 ล้านบาทต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 110 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน คิดเป็น 69% ของการผลิตก๊าซบนบก มูลค่า 19.25 ล้านบาทต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว 100 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 25% ของการผลิตบนบก มูลค่า 0.175 ล้านบาทต่อวัน รวมมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด 47.4 ล้านบาทต่อวัน รวมระยะเวลาที่หยุดผลิตไปรวม 15 วันนั้น เกิดความสูญเสียไปแล้วกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งกระทบรายได้เข้ารัฐจากการจัดเก็บค่าภาคหลวง ประมาณ 26 ล้านบาทต่อวัน โดยจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนที่ต้องจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.55 ล้านบาทต่อวัน
ที่มา คมชัดลึก 27 กันยายน 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.