เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) หรือ บจธ.ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน หัวข้อ “ธนาคารที่ดินจะมีประโยชน์อย่างไรกับเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วน เพื่อเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น เสนอแนะ และแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับการตั้งธนาคารที่ดินตามพันธกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน
โดยในกำหนดการมีการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาโดยนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการที่ดิน และกล่าวเปิดการสัมมนา โดยพลโท ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และในการสัมมนามีวิทยากรร่วมเสวนา ดังนี้ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบและโครงสร้าง,รศ.นที ขลิบทอง ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ,ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารจัดการที่ดิน,นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ ผอ.สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน,นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้,นายภาณุพงศ์ กรรณาธิกรณ์ ผู้ประกาศข่าวช่อง 5 เป็นพิธีกร
เร่ิมต้นโดยการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการที่ดิน ถึงภาพรวมของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินว่ามีประวัติความเป็นมาที่เกิดขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน ทำให้มีการจัดตั้ง บจธ.โดยมีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) เมื่อปี 2554 โดยมีการตราพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ซึ่งธนาคารที่ดินจะดำเนินการในที่ดินเอกชนเป็นหลัก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำระบบข้อมูลที่ดินและเป็นแหล่งทุนให้เกษตรกร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกร,ช่วยเหลือผู้ไร้ที่ดินทำกิน ให้มีที่ดินทำกิน และมีที่ดินเกษตรกรรมเป็นของตัวเอง และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม
ซึ่งธนาคารที่ดินมีวิธีดำเนินการโดยการจัดหาที่ดินให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกิน ให้สินเชื่อแก่ผู้จะสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือการบังคับคดีเพื่อให้สามารถคงสิทธิในที่ดินไว้ได้ ผ่านการพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารที่ดินให้สามารถดำรงชีวิตและมีรายได้ ตลอดจนคงสิทธิในที่ดินเกษตรกรรมของตนไว้ได้ และสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรักษาพื้นที่เกษตรกรรม
ด้วยปัญหาข้างต้นทั้งการขาดแคลนที่ดินทำกินและการไม่สามารถเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน ทำให้มีความจำเป็นต้องมีธนาคารที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดิน และป้องกันและแก้ไขการสูญเสียสิทธิในที่ดินเกษตรกรรม จากการจำนอง ขายฝาก ถูกบังคับคดี และส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารที่ดินอยู่ในกระทรวงการคลัง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา
ต่อด้วยการกล่าวเปิดงานโดยพลโท ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ซึ่งได้กล่าวถึงหน้าที่หลักของ บจธ.ในด้านต่างๆ และหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือ การจัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. …. ตอนนี้อยู่ที่กรรมาธิการของคณะกรรมการของทางรัฐบาล เพราะว่ามันเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ถ้าเกี่ยวกับการเงินที่ไหนก็เสนอไม่ได้ เพราะว่าจะเอางบประมาณของประชาชนมาใช้ก็ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยกระทรวงการคลังเป็นหลักและก็มีคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เข้าใจว่าร่างของธนาคารที่ดินมันถูกแปลงร่างออกไปถึง 3 ฉบับ ฉบับหนึ่งของ บจธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ฉบับหนึ่งเป็นของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซื่งแทนที่ด้วยสภาขับเคลื่อนปฏิรูปซึ่งมาแทน สปช.มาขัดเกลาและนำเสนออีกหนึ่งฉบับ และของรัฐบาลอีกหนึ่งฉบับ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันก็มี 4 ฉบับไปต่อสู้กัน เป็นการทำเชิงรุกเพื่อให้ เพื่อให้เงินงบประมาณที่มีอยู่มีอยู่ถูกใช้อย่างคุ้มค้า เพราะ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ที่ บจธ.เสนอ มีงบถึง 6,000 ล้านบาท หรือสื่อฯ มองว่าต้องใช้เงินถึง 1 หมื่นล้าน ในการทำให้เกิดธนาคารที่ดิน ซึ่งมีกรณีศึกษาตั้งแต่ปี 2521 ถึงรูปแบบแนวทางในการจัดการที่ดิน
เมื่อเรากล่าวถึงธนาคาร ธนาคารทั่วไปก็มีเงินให้กับประชาชน แต่เมื่อเรากล่าวถึงธนาคารที่ดินก็ต้องมีที่ดินให้กับประชาชนกู้ไปทำ ส่วนหนึ่งประชาชาชนที่เป็นเกษตรกรผู้ยากไร้และผู้ยากจนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินวันข้างหน้าต้องรอไปบุกรุกที่ดินของรัฐ ถ้าเราบุกรุกที่ดินของรัฐเจอกฎหมายอย่างน้อยต้องถูกบทลงโทษก่อนแล้วจึงจะไปทำ แต่จะแก้ไขแต่ละท่านคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน วันหนึ่งพ่อแม่ลูกเดินมา ไม่มีอาชีพหรือมีฐานอาชีพในการประกอบไม่มาก อยากมีความต้องการจะประกอบเกษตรกรรม โดยบุคคลมาค้ำประกัน 2-3 ท่าน นี่เป็นความหวังที่หลายๆท่านคิดว่าธนาคารที่ดินจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ปัญหาของประชาชนหลายอย่างไม่พ้นเรื่องที่ดิน ที่เอาไว้ทำกินในฐานะเป็นพื้นฐานของการประกอบอาชีพ พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินได้ให้หลักการและเหตุผล ซึ่งประเด็นหลักของการมีธนาคารที่ดินที่เป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันมีคนจนกว่า 14 ล้านคน หรือ 11 ล้านคน ตามการสำรวจของกระบวนการสวัสดิการแห่งรัฐ และได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการขับเคลื่อนไปกับธนาคารที่ดินอย่างไร
ต่อด้วยวงสัมมนา หัวข้อ “ธนาคารที่ดินจะมีประโยชน์อย่างไรกับเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน” ซึ่งเร่ิมต้นด้วย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ที่ได้กล่าวถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนเองถึงประธานอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบและโครงสร้างและกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ โดยคณะทำงานได้พิจารณาถึงความสำคัญประเด็นการกระจายการถือของที่ดิน เพราะเป็นการบ้านตามรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งต่อเนื่องกันมาหลายฉบับ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระจายการถือครองที่ดิน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มเติมไปด้วยถึงการตรวจสอบระบบกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน ซึ่งโยงไปถึงภารกิจของธนาคารที่ดิน
เพราะฉะนั้น การกระจายการถือครองที่ดิน เป็นภารกิจตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเรานึกย้อนไปถึงการขับเคลื่อนมวลชนในท้องถนน ประเด็นเรื่องที่ดิน เป็นหนึ่งในทุกม๊อบทุกสีเสื้อที่จะยกขึ้นมาเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นหากเราแก้ปัญหาเรื่องที่ดินนี้ได้ เราจะตอบโจทย์พื้นฐานของเหตุความขัดแย้งของสังคมไทยได้หนึ่งเรื่อง และจะตอบโจทย์เรื่องการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นการเปลี่ยนคู่ขัดแย้ง ซึ่งอยู่กันคนละฟากของสีทางการเมืองมาเป็นพลังร่วมกับการปฏิรูป และจะทำให้การปฏิรูปเรื่องอื่นๆมีพลังร่วมกันในสังคมมากขึ้น ซึ่งวันนี้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ภายใต้กับดักของรายได้ปานกลาง ปัญหาความขัดแย้งทางด้านสังคม ความขัดแย้งทางด้านการเมืองทั้งหลาย ซึ่งจะนำไปสู่การตอบโจทย์ที่วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในการบ้านร่วมกันของทุกคน ซึ่ง ดร.บัณฑูร เน้นย้ำหลายที่ว่า ไม่ใช่การบ้านของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องมาช่วยกันทำ
ในทางเศรษฐกิจ ตัวเลยที่ทาง บจธ.ยกขึ้นมาร่วมทั้งตัวเลขทางวิชาการที่เราพูดกันและสื่อมวลชนก็เห็นกันเยอะว่าความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากการถือครองที่ดินของคน 50 ตระกูลร่ำรวย เพียงแค่ 3% ของที่ดินเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้นอีก 97% อยู่ในสภาวะที่เก็งกำไร ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ตรงนี้คือโจทย์ใหญ่ในทางเศรษฐกิจ ว่าเรามีปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก แต่มีคนทิ้งที่ดินรกร้างไว้ไม่ใช้ประโยชน์มหาศาลเช่นกัน ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะตอบโจทย์การพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะสภาพของที่ดินที่ควรจะใช้ประโยชน์วันนี้ ถูกถือครองไว้เพื่อการเก็งกำไร ถ้าเปลี่ยนตรงนี้มาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องทั้ง 97% หนึ่งในสี่ของเศรษฐกิจของประเทศก็คงมีสภาพที่ดีกว่านี้อีกเยอะ และนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์กับการบ้านของการพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรจะช่วยกันคิดว่าถ้าการตอบโจทย์การบ้านของการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ลำพังเพียงเครื่องมือธนาคารที่ดิน อาจจะไม่มีพลังพอ เพราะว่าการบ้านเรื่องนี้ต้องอาศัยหลากหลายเครื่องมือ หลากหลายกลไก ซึ่งเป็นโจทย์ที่หนักหน่วง ถ้าทุกคนหรือเราเข้าใจรัฐบาลสังคมเข้าใจ และไปฝากความหวังไว้กับธนาคารที่ดิน และวันหนึ่งธนาคารที่ดินไม่มีพลังพอตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ จำเลยก็อาจกลับมาอยู่ที่ธนาคารที่ดิน เพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน เราต้องการเครื่องมือที่มาช่วยธนาคารที่ดิน
ต่อด้วย รศ.นที ขลิบทอง ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้กล่าวถึง ประชาชนที่อยู่ในชนบทที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีปัญหาความเดือดร้อน เราอาจจะมองไม่เห็นเพราะว่าอาจจะอยู่ห่างไกล แต่หากได้ไปสัมผัส เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องอันดับหนึ่งที่ ที่มีความต้องการและเรียกร้อง เพราะถือว่านั่นคือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อาจารย์นทีเคยได้เห็นพี่น้องประชาชนใส่รองเท้าเตะ น้ำตาไหลเมื่อได้ที่ดิน ส.ป.ก. เพราะนั่นหมายถึงอนาคตของลูกหลาน นั่นหมายถึงความรู้สึกของความมั่นคง และเมื่อได้แล้วคนที่ได้รับที่ดินก็จะหวงแหนในที่ดินของตนเอง แต่เมื่อมือความจำเป็นที่ต้องปล่อยที่ดินออกไป กระบวนการของธนาคารที่ดินสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ในการเข้าไปจัดการ ในการช่วยให้เกษตรกรรักษาที่ดินที่หวงแหนไว้ได้ ผมคิดว่าประชาชนที่ประสบปัญหาอยู่รอคอยสิ่งเหล่านี้
ประชาชนได้อะไรจากกระบวนการจัดการที่ดินที่เกิดขึ้น? ในภาคเศรษฐกิจซึ่งจะกลายเป็นภาคสังคมในตัวเอง โดยเฉพาะประชาชนจะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นมาได้ด้วยความมั่นใจ นี่เป็นกระบวนการบนการจัดการของธนาคารที่ดินบนพื้นฐานเหล่านี้ แต่ส่ิงที่ รศ.นที ชวนเรามองไปมากกว่าปัจเจก คือ วันนี้ที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ เราสามารถเอามาทำอะไรให้ได้มากกว่านั้นหรือไม่ ที่ดินคือสินทรัพย์ เราเพิ่มที่ดินขึ้นมาสองเท่า ก็คือสินทรัพย์ของประเทศเพิ่มขึ้นมาสองเท่า จากการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้าง คำถามคือว่าเราจะช่วยให้ที่ดินเหล่านี้ มีคุณค่ามีมูลค่าได้มากขึ้นเท่าไหร่? ประเทศ ประชาชน ที่ดิน เป็นตัวรองรับ
ผมคาดหวังว่าประเทศจะมียุทธศาสตร์ ที่มีฐานข้อมูลที่แท้จริงจากระบบกระบวนการจัดการที่ดิน ทำให้สามารถวางแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ ที่ดินได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับสิ่งที่ควรจะเป็น ประเทศสามารถกำหนดรูปแบบในการพัฒนา ต่อคำถามเหล่านี้ประเทศไทยเรามีปัญหาอะไร? ประเทศมีปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประเทศมีปัญหาพืชผลเกษตรมีปัญหามากน้อยฤดูกาล และเราก็เรียกร้อง Zoning ซึ่งเราใช้บริบทของธนาคารที่ดิน มาช่วยส่งเสริมตรงนี้ เราจะสามารถตอบโจทย์ Zoning ที่หลายๆประเทศเรียกร้องกันได้ ว่ามันถึงเวลาแล้วหรือยัง และจะทำโซนนิงอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด กับตัวที่เกิดขึ้น
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.