รัฐอนุมัติอุ้มข้าว 3 โครงการ 87,216 ล้านบาท ให้สินเชื่อชะลอขายข้าว 33,510 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706 ล้านบาท เบ็ดเสร็จชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวได้ตันละ 15,300 บาท ข้าวเจ้า 11,100 บาท ขณะที่ผู้ส่งออกหวั่นบาทแข็งโป้กทำข้าวไทยแพง ชี้ประมูลขายครั้ง ผ่านมาแพ้เวียดนามยับเยิน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.พระนครศรีอยุธยาอนุมัติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2560/2561 ด้านการตลาดวงเงินรวม 87,216 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินสินเชื่อ 33,510 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการทั้ง 2 โครงการวงเงิน 86,276 ล้านบาทไปก่อนแล้วมาขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ส่วนโครงการของกระทรวงพาณิชย์ 1 โครงการ 940 ล้านบาท ให้เบิกจากงบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2561
อีกโครงการที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการคือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปีวงเงินรวม 73,369 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินหมุนเวียนสินเชื่อ 21,010 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 52,359 ล้านบาท ซึ่งโครงการในส่วนของสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีนั้นจะให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานีมีเป้าหมายจำนวน 2 ล้านตัน โดยข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวจะได้รับตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,200 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ8,500 บาท ความชื้นไม่เกิน 15% พร้อมทั้งได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมการจ่ายสินเชื่อก่อนตันละ 1,000 บาท และภายหลังเกษตรกรนำเงินมาชำระหนี้ตันละ 500 บาท ระยะเวลาจัดทำสัญญาเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2560-28 ก.พ.2561 ยกเว้นภาคใต้ถึงวันที่ 31 ก.ค.2561
ขณะที่ในส่วนของการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรนั้น จะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวให้แก่เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,200 บาท ตามจำนวนพื้นที่ปลูกจริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือไม่เกิน 12,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2560-31 ก.ค.2561 รวมการช่วยเหลือทั้งหมดแล้วเกษตรกรจะได้รับเงินดังนี้ คือ ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวตันละ 15,300 บาท ข้าวเจ้าตันละ 11,100 บาท และข้าวปทุมธานี 1 ตันละ 12,000 บาท ส่วนโครงการที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบอีก 1 โครงการคือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐในอัตรา 3% ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่เก็บสต๊อกไว้ ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ 60-180 วัน ในรูปข้าวเปลือกหรือข้าวสาร เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมาก มีเป้าหมายทั้งสิ้น 8 ล้านตัน งบประมาณจ่ายขาดจำนวน 940 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ต.ค. 2560-30 ก.ย. 2561
ขณะที่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ข้าวไทยขณะนี้ไม่มีสต๊อกของรัฐบาลมากดดันเรื่องราคาแล้ว ประกอบกับเกษตรกรไม่เร่งผลิตข้าวจนเกินไป ขณะที่บางประเทศผู้ผลิตข้าวยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ อินเดีย และบังกลาเทศ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะแข่งขันในตลาดข้าวได้มากขึ้น โดยหวังว่าสถานการณ์ทั้งหมดจะผลักดันให้ข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ประเภท หอมมะลิราคาอยู่ที่ 11,000-12,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทปัจจุบันเฉลี่ยมากถึง 8% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาลยังไม่มีแนวทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหานี้น่าจะส่งผลต่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งในส่วนของข้าวมีคู่แข่งสำคัญคือเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเงินด่องของเวียดนามแข็งค่าขึ้นเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งต่างจากไทยอยู่ถึง 6% ทำให้ราคาข้าวของไทยสูงกว่าถึงตันละ 24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่งผลให้การตัดสินใจสั่งซื้อข้าวลดลง โดยการประมูลซื้อข้าวของฟิลิปปินส์ที่ผ่านมาเวียดนามคว้าไปเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายมากนัก เพราะมีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งเข้ามาจำนวนมาก แต่คาดว่าคงไม่มากพอที่จะกระตุ้นราคาข้าวช่วงปลายปีให้สูงขึ้นได้ โดยผู้ส่งออกยังหวังว่ารัฐบาลและ ธปท.จะมีมาตรการจัดการกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า.
ที่มา ไทยรัฐ 20 กันยายน 2560