รัฐบาลเตรียมหาทางออกกิจการบนที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำสั่งศาลปกครองก่อนหน้านี้ที่ตัดสินว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ส.ป.ก.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ซึ่งมีผลให้การผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ส.ป.ก.ทุกรายต้องหยุดกิจการ
หลังคำสั่งห้ามผลิตปิโตรเลียมของศาลปกครองสูงสุด ทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหา เนื่องจากได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยได้รับผลกระทบ 7 บริษัท และกระทรวงพลังงานประเมินความเสียหายในเบื้องต้น จะส่งผลโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมลดลง คือ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติลดลง110ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาทต่อวัน
ส่วนความเสียหายทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาทต่อวัน และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาทต่อวัน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในวันที่ 20 มิ.ย.60 ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะนำเรื่องการแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หลังจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่เอส 1 อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ต้องหยุดดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในการแก้ไขโดยเร็วเนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นเรื่องใหญ่
เฉพาะกิจการปิโตรเลียมที่หยุดการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท นอกจากกิจการปิโตรเลียมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ดิน ส.ป.ก.ยังเกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานทดแทน และทรัพยากรเหมืองแร่ด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า ในเบื้องต้นการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.มี 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การถอนสภาพที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งสามารถทำได้ แต่ที่ดินจะเปลี่ยนสภาพจากที่ดินที่ให้ประโยชน์กับเกษตรกรไปเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานดูแล การจัดส่งรายได้จากการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เข้าสู่กองทุนพัฒนาเกษตรกรที่มีการจัดส่งรายได้อยู่ในปัจจุบันจะหยุดชะงักซึ่งผู้เสียประโยชน์ก็คือเกษตรกร นอกจากนี้ พื้นที่เหมืองแร่เก่าที่ปัจจุบันใช้เป็นที่กักเก็บน้ำบางพื้นที่ก็จะถูกยกเลิกไปด้วยทำให้ในบางพื้นที่อาจขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตรได้
2.แนวทางการแก้ไขกฎหมาย ส.ป.ก.ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการแก้ปัญหา 3.แนวทางการออกระเบียบภายใต้เงื่อนไขข้อกฎหมาย ส.ป.ก.เพื่อปลดล็อกการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ตามที่กฎหมายมาตรา 19 และมาตรา 30 ได้เปิดช่องทางให้ไว้ ซึ่งหากใช้แนวทางนี้จะแก้ไขได้เฉพาะกรณีที่ดิน ส.ป.ก.ที่ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า แต่จะไม่ครอบคลุมกิจการปิโตรเลียมและ 4.การใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ในส่วนที่มีปัญหา
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.ไว้ 7แนวทางได้แก่1.เป็นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จำกัดเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาไม่ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ 2.เป็นพื้นที่ซึ่งด้อยศักยภาพทางการเกษตร หรือเป็นพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตรซึ่งการยังคงสภาพเป็นที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งให้เอกชนดำเนินกิจการพลังงานและเหมืองแร่สามารถทำให้เกษตรกรได้รับค่าเช่าและผลประโยชน์มากกว่าการทำเกษตร
3.เป็นพื้นที่ที่รัฐมีสัญญากับเอกชนตั้งแต่เดิม และเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนในกิจการพลังงานและเหมืองแร่ต้องพิจารณาขนาดของกิจการด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด 4.การช่างน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของกิจการ5.ผลประโยชน์ตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับ 6.ผลเสียหรือผลกระทบที่จะตามมาจากการแก้ไขปัญหา และ7.การแก้ไขปัญหาต้องไม่เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา โดยกำชับว่าการแก้ปัญหาในครั้งนี้รัฐจะปลดล็อกให้เฉพาะประเด็นที่ดิน ส.ป.ก.โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อติดขัดอื่นๆ เช่น เรื่องผังเมืองในการควบคุมกิจการ เป็นต้น
“ความชัดเจนในการแก้ปัญหาขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยใช้แนวทางที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ โดยต้องพิจารณาสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเพราะในอดีต"
นายวิษณุ กล่าวว่า การจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ให้กับเกษตรกรซึ่งทำตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเป็นที่ดิน ส.ป.ก.ตั้งแต่ปี30 ขณะนั้นเป็นช่องทางเดียวที่จะกระจายที่ดินทำกินให้เกษตรกร และหวังว่าให้เขามีรายได้จากการเกษตร แต่ในปัจจุบันการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.เปลี่ยนแปลงไปแต่ประโยชน์ยังตกอยู่กับเกษตรกรในรูปแบบอื่นเช่นค่าเช่า และเงินบางส่วนก็ยังส่งเข้ากองทุนพัฒนาเกษตรกรเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศด้วย” นายวิษณุ กล่าว
ที่มา คมชัดลึก 20 มิ.ย. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.