"วิษณุ" แจง ม.44 ปลดล็อกใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ทำเหมืองแร่ กังหันลม ขุดเจาะน้ำมัน แค่ 4 พันไร่ หลังประกาศใช้เอกชนที่ได้รับอนุญาตดำเนินการได้จนกว่ามีกฎกระทรวงใหม่ถึงขออนุญาตจาก ครม. สมาคมพิทักษ์ รธน.ค้านใช้ ม.44 พร่ำเพรื่อ ชี้เหตุ ขรก.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ศาลปกครองฯ พิพากษาแล้ว แต่ คสช.กลับใช้อำนาจปกป้อง ขรก.-นายทุน จ่อยื่นศาล รธน. "สภาวิศวกร-สภาสถาปนิก" ไม่ขวาง ม.44 ยันจะควบคุมการขอใบอนุญาตมิให้ย่อหย่อนต่อมาตรฐาน พร้อมตั้ง กก. 4 ฝ่ายฝึกอบรมทดสอบ
เมื่อวันพุธ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อกการใช้ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ว่า อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดตามที่ คสช.ได้ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจว่ามีที่ดินที่ถูกนำมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพียงร้อยละ 40 ของที่ดินทั่วประเทศ โดยในส่วนนี้มีการนำไปใช้เช่าที่ดินเพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือภาคการเกษตร เช่น ทำเหมืองแร่ กังหันลม ขุดเจาะน้ำมัน ทั้งหมดมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 หรือ 4,000 ไร่
"กรณีของการขุดเจาะน้ำมัน ที่ผ่านมาพบว่ามีเฉพาะที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร แต่ก็พบว่าจะมีการสำรวจใหม่ในพื้นที่ภาคอีสานอีกบางจุด ซึ่งต้องให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติลงไปสำรวจ ก่อนที่จะมีการพิจารณาอนุญาตให้สัมปทานหรือไม่ต่อไป ส่วนกรณีของกังหันลม การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ต้องพิจารณาด้วยว่าจะอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเฉพาะที่ติดตั้งกังหันลม หรือจะต้องรวมถึงการทำถนนตัดผ่าน เพื่อให้สะดวกต่อการขนถ่ายพลังงาน รวมไปถึงการพิจารณาถึงเรื่องการเปิดพื้นที่ให้มีการสำรวจแร่หรือทรัพยากรธรรมชาติ ที่อนาคตยังไม่รู้ว่าโลกจะมีความต้องการแร่ใดอีกบ้าง ก็อาจจะจำเป็นที่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เหล่านี้รวมไปด้วย ทั้งหมดเป็นความยุ่งยากที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป"
นายวิษณุกล่าวว่า ภายหลังที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. เอกชนที่ได้รับอนุญาตก่อนหน้านี้ จะสามารถดำเนินกิจการได้ไปพลางก่อนจนกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก.ใหม่ โดยต้องนำเรื่องมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทุกครั้ง จากเดิมที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เป็นผู้พิจารณาและอนุมัติได้ทันที โดยปัจจุบันพบว่ามีเอกชนขุดเจาะน้ำมัน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ประมาณ 5-6 บริษัท พลังงานลมประมาณ 20 บริษัท เหมืองแร่ 5-10 บริษัท ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำการขออนุญาตใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ใหม่ ทันทีที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้
มีรายงานว่า ในวันที่ 22 มิ.ย. กระทรวงพลังงาน โดยนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะออกมาแถลงข่าวประเด็นทิศทางการดำเนินงานเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ส.ป.ก. สำหรับกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปของกระทรวง ว่าจะมีผลสรุปออกมาเป็นอย่างไร และอาจจะมีแนวทางเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1.บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย 3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4.บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
ซัด คสช.ไม่เคารพ กม.
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า แนวคิดที่จะใช้อำนาจ ม.44 ดังกล่าวเป็นการขัดต่อสัญญาประชาคมที่หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีเคยประกาศต่อสาธารณชนมาโดยตลอดว่า “ให้ทุกคนเคารพกฎหมาย” ซึ่งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเมื่อมีกรณีพิพาทจนมีการฟ้องร้องกันถึงศาลปกครองสูงสุด โดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว สมควรที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ/อนุญาตให้มีการเข้าไปใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม, การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และการทำเหมืองแร่ จะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างเพราะการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อไป
"แต่ทว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากจะไม่ลงโทษข้าราชการ กลับพยายามออกมาเอื้อ-อุ้ม-อวยประโยชน์ปกป้องข้าราชการและนายทุน และกลุ่มผลประโยชน์อย่างออกหน้าออกตา ด้วยการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในการใช้ ม.44 ดังกล่าว ทั้งๆ ที่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายไปแล้ว แค่ คสช.กลับจะไม่เคารพกฎหมายเสียเอง ใช้อำนาจเกินส่วน เหมือนคำพิพากษาของศาลไม่อยู่ในสายตา (เช่นนั้นถ้ารัฐแพ้คดี แต่ละคดีก็ใช้ ม.44 แก้หมดทุกคดีสิ)"
นายศรีสุวรรณระบุว่า นอกจากนั้นการใช้ ม.44 อย่างพร่ำเพรื่อดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 53 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” ดังนั้นสมาคมฯ จำต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจของ คสช.ดังกล่าว “เป็นโมฆะ” ขัดต่อมาตรา 53 ดังกล่าวหรือไม่ต่อไปด้วย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า เจตนารมณ์ของ ส.ป.ก. ที่เราเคยติดตาม จะต้องเป็นที่เพื่อเกษตรกรเพื่อผู้ยากไร้เท่านั้น ในอดีตเคยมีปัญหาการยกที่ สปก.4-01 ใน จ.ภูเก็ต ให้กับเศรษฐี จนมีการฟ้องร้อง และศาลฎีกาพิพากษาให้ที่ดินตกเป็นของแผ่นดิน รวมทั้งก่อนหน้าศาลปกครองได้วินิจฉัยบริษัทที่จะทำกังหันลมในที่ ส.ป.ก.นั้น ไม่สามารถทำได้ ต้องออกจากพื้นที่ แต่คำสั่งมาตรา 44 ต่อไปจะไม่มีพื้นที่สำหรับเกษตรกรผู้ยากไร้เป็นหลักอีกต่อไป แต่จะให้เป็นพื้นที่ทางธุรกิจ สามารถทำได้ หากปล่อยให้ดำเนินการเช่นนี้ องค์กรนี้จะพินาศย่อยยับ เพราะลบล้างเจตนารมณ์ ส.ป.ก.
วันเดียวกัน ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก นำโดยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร แถลงชี้แจงกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ว่า 1.สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกได้มีความพยายามอย่างที่สุดในการแสดงหลักการและจุดยืน เพื่อให้มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 โดยการกำหนดให้วิศวกรและสถาปนิกจีนที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการดังกล่าวดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ และระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ โดยจะเร่งรัด ช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในเรื่องของระยะเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคของความล่าช้าในการเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิได้ย่อหย่อนต่อมาตรฐานการทดสอบความรู้ความชำนาญ
ตั้ง กก. 4 ฝ่ายฝึกอบรม
2.คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งย่อมมีผลผูกพันต่อสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่ง 3. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการ เพื่อให้วิศวกรและสถาปนิกไทยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาชีพภายในประเทศ 4.จะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกร และสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าว
อนึ่ง สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะประสานกับกระทรวงคมนาคมเพื่อติดตามดูแลโครงการดังกล่าวให้ได้รับประโยชน์ต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยต่อไป
ด้านนายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงกรณีวิศวกรและสถาปนิกไม่ต้องมีใบอนุญาต ว่า ปกติแล้ววิศวกรและสถาปนิกต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อยู่แล้ว โดยจะมีการออกใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษและภาคีสถาปนิกพิเศษให้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกใบอนุญาตฯ ไปแล้ว 180 ใบ ดังนั้นการที่วิศวกรและสถาปนิกจีนจะเข้ามาประกอบวิชาชีพในโครงการ จะต้องยื่นคำขอใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษ และภาคีสถาปนิกพิเศษ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาพิจารณารวดเร็วขึ้น จากปกติ 180 วัน เหลือเพียง 120 วัน เนื่องจากเป็นโครงการของรัฐที่มีความจำเป็นเรื่องเงื่อนไขเวลา
ทั้งนี้ ในด้านวิศวกรรม คสช.ยกเว้นให้ไม่ต้องมีใบอนุญาตฯ เฉพาะงานออกแบบและคำนวณ (Design) และงานที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง (Supervision) เท่านั้น ส่วนงานก่อสร้าง (Construction) ยังต้องมีใบอนุญาตฯ แต่ยังต้องจัดให้มีการฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการฯ ซึ่งจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก กระทรวงคมนาคม (รฟท.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร : สนข.) และผู้แทนจีน เพื่อมาพูดคุยถึงรายละเอียดต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีที่จีนออกแบบโครงการไม่ได้มาตรฐานจนก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย นายอมรกล่าวว่า คำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 ไม่ได้ยกเว้นการดำเนินคดีแพ่งและอาญา ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่ก่อให้เกิดความเสียหายในโครงการ ย่อมต้องรับผิดชอบ ซึ่งเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาตฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาค เชื่อมโยงกับหลายประเทศ ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศจีน ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ ดังนั้นที่ผ่านมาจึงเป็นการร่วมทุน แต่พอมาเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าเป็นโครงการของรถไทย ทุกอย่างเลยผิดไปหมด เริ่มตั้งแต่ว่าเส้นทางแทนที่จะเน้นการเชื่อมโยงกับของจีน ก็ไปเป็นกรุงเทพฯ-โคราช แถมทำไปทำมาเป็นระยะทางเพียง 3 กิโลเมตรครึ่ง ทำไปทำมาไปคิดว่านี่เป็นรถไฟไทย แต่จะเอาจีนมาสร้าง สุดท้ายกลายเป็นที่มาของมาตรา 44 ซึ่งก็มายกเว้นกฎหมายอยู่หลายฉบับ
"จีนเองก็มียุทธศาสตร์เชิงรุกชัดเจน โดยมีความร่วมมือขยายบทบาทของเขาในภูมิภาค ดังนั้น ไทยต้องอยู่บนความพอดี เพราะเราเป็นมิตรทั้งจีน สหรัฐ และอีกหลายประเทศในตะวันตก ความพอดี คงจะไปเอียงสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งนั้นคงไม่เหมาะ ตอนนี้ก็ต้องบอกว่าเราใกล้กับทางจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องคิดต่อไปว่าจะเสียสมดุลหรือไม่ อยากให้นายกฯ ทบทวนเรื่องนี้ให้ดี จีนเข้ามาแล้ว มาร่วมรับผิดชอบกับเราตลอดทาง แล้วแบ่งผลประโยชน์กันให้เหมาะสม ขอให้ตั้งหลัก" นายอภิสิทธิ์กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ มิถุนา 22, 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.