เปิด ม.44 สั่งปลด "เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" พร้อม "3 บอร์ดตัวแทนเกษตรกร" ที่มาจากการเลือกตั้ง เผยคำสั่งตั้ง 10 ข้าราชการ-รมว.เกษตรฯ นั่งประธานแก้หนี้-บริหารหนี้-บริหารองค์กรแบบเฉพาะกิจ ให้ใช้กฎหมายเดิมจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เผยงานแรกช่วยเกษตรกร 2 พันรายที่กำลังถูกยึดที่ดิน มูลค่า 400 ล้าน พร้อมบริหารงบฯ ปี 60 วงเงิน 580 ล้าน
วันนี้ (19 พ.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2560 เรื่องการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มาตรา 44 แก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจากการที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยการรับซื้อหนี้สินจากเกษตรกรนั้น ในขณะนี้มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะกรณีที่เป็นหนี้สินเร่งด่วนอันเกิดจากหนี้ที่เกษตรกรถูกฟ้องล้มละลาย หนี้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้และบังคับคดีและหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี แต่ด้วยเหตุที่การดำเนินการที่ผ่านมาของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่อาจบริหารจัดการได้อันเนื่องมาจากปัญหาความโปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุนความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ รวมไปถึงปัญหาการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ไม่อาจดำเนินการได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ปัญหาเหล่านี้ได้สะสมมาเป็นเวลานาน ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรหยุดชะงักและไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างทันท่วงที เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคการเกษตรซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ตั้ง รมว.เกษตรฯ นั่ง ปธ.บอร์ด กฟก. 10 ข้าราชการนั่งบอร์ดเฉพาะกิจ อำนาจแก้หนี้ตาม กม.
มีรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (19 พ.ค. 2560) โดยให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร แล้วแต่กรณี
ขณะที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ประกอบด้วย (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ (2) ผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ (3) ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นกรรมการ (4) เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งรองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 1 คน และผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ม.44 แก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
คำสั่งดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้ให้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจพิจารณาศึกษาปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การแก้ไขปัญหาหนี้สินและความเดือดร้อนของเกษตรกรและปัญหาการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
ส่วนการใดที่ต้องดำเนินการตามสัญญาที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจพิจารณาดำเนินการต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเสร็จสิ้น
ม.44 ปลดเลขาธิการ กฟก. ตั้งรองเลขาฯ กฟก.นั่งรักษาการ-บอร์ดเฉพาะกิจนั่งรองฯ แทน 1 คน
มีรายงานว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งสำเนาหรือแสดงเอกสาร สั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูล และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ทั้งนี้ ให้ "เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่ง ให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ แต่งตั้ง "รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" นั่งรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
ส่วนในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้ง "รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่งที่เหลืออยู่ และปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจตามคำสั่งนี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งรองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรตามคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ เป็นระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หากครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวและการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรยังไม่แล้วเสร็จ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เมื่อครบระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อไป
ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และคณะกรรมการบริหารจัดการหนี้ของเกษตรกร" ให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวแล้วเสร็จ
อดีตบอร์ด กฟก.พบรองแม่ทัพภาค 1 ยินดียุบทิ้งบอร์ด กฟก.ชุดเก่า เร่งแก้ปัญหาหนี้
มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (18 พ.ค.) ตัวแทนเกษตรกร นำโดยนายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล อดีตรองกรรมการบริหาร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าหารือกับ พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 และตัวแทนกองทุนฟื้นฟูฯ โดยเป็นการร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของของเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และคนที่กำลังจะถูกยึดที่ดินกว่า 2 พันราย รวมกว่า 400 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหา ไม่ให้ถูกยึดโดยมีการทยอยแก้ปัญหา มาเป็นระยะๆ
ทั้งนี้ นายยศวัจน์กล่าวขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. เลขาฯ คสช. และ คสช.ที่ช่วยเจรจาหาทางออกในการแก้ปัญหา และหนุนการใช้ ม.44 ยุบ 3 กองทุนแก้ปัญหาให้จบยุค คสช. ชี้ถ้ารัฐบาลนี้ทำไม่ได้ก็ไม่มีใครทำได้
"ขอบคุณรัฐบาลและ คสช.ที่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา พวกเราพอใจในส่วนนี้ หวังว่าทาง คสช.จะช่วยประสานงานให้ แต่ชาวบ้านจะไม่สูญเสียที่ดิน สิ่งใดที่ทำได้ก็ทำเลย จะได้รักษาชีวิตเกษตรกรประเทศไทยคงอยู่ต่อไป"
ส่วนการที่รัฐบาลประกาศใช้ ม.44 ยุบ 3 คณะกรรมกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และตั้งกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรจะทำให้แก้ไขปัญหาเร็วขึ้นหรือไม่ นายยศวัจน์กล่าวว่า เข้าใจว่าน่าจะต้องใช้ เพราะการจะขับเคลื่อนของกองทุนต้องมีคณะกรรมการไปออกเป็นมติ สำนักงานก็ไปดำเนินการ เพราะไม่มีอะไรที่จะแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้นได้เท่านี้ ยุคนี้ถ้าแก้ไขไม่ได้ยุคอื่นก็ลำบาก
"ผมรู้สึกสบายใจ และดีใจ แม้สถานการณ์ตอนนี้จะเห็นว่าเม็ดเงินเรามีน้อย แต่ถ้าเราออกเป็นนโยบาย ขอความร่วมมือจากด้านต่างๆ ทางทหารก็ทำได้ดี น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ แต่ในส่วนที่ทำได้ทางสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะทำก่อนเลย น่าจะเห็นผลในไตรมาสนี้"
ปลด "วัชระพันธุ์ จันทรขจร" พ้นเลขาฯ กฟก. พร้อมบอร์ดบริหารหนี้ตัวแทนเกษตรกร
มีรายงานว่า เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรคนปัจจุบัน คือ นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร
ขณะที่คณะกรรมการบริหาร กฟก.ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ประธานกรรมการ (ผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการ) นายทรงยศ โรจนวีระ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเศรษฐศาสตร์) นายสุนทร รักษรงค์ รองประธานกรรมการ คนที่ 2 (กรรมการในคณะกรรมการ) นายสำเริง ปานชาติ กรรมการ (ผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการ) นายทวิช ภารัตนวงศ์ กรรมการ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาการบริหารการเงินหรือการธนาคาร) ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก กรรมการ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเกษตรศาสตร์) และเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรรมการและเลขานุการ
ส่วนคณะกรรมการจัดการหนี้ ชุดปัจจุบัน ประกอบไปด้วย ผู้แทนเกษตรกรที่ได้รับการเลือกตั้ง นายประมวล หาญชัยภูมิ นายยิเทศน์ คำเป้ก นายสำคัญ วรรณบวร นายอำนาจ มอญพันธุ์ นายวรเชษฐ เชิดชู นายบดินทร์เดชา ชูคล้าย นายนิยมมุลเมืองแสน นายรุสดี บินหะยีสะมะแอ นายละม้าย เสนขวัญแก้ว และผู้ทรงคุณวุฒิในคระกรรมการ ประกอบด้วย นายอาเดล ภูยุทธานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเศรษฐศาสตร์ นายชูชาติ วิวัฒน์เดชากุล ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาบริหารการเงินหรือการธนาคาร นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเกษตรศาสตร์
มีรายงานว่า ปีงบประมาณปี 2560 กฟก.ได้งบประมาณ 580 ล้านบาท ใช้ฟื้นฟูฯ 84 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นเงินซื้อหนี้ 251 ล้านบาท นอกจากนี้ยังกันเงินบางส่วนเพิ่มเติมก็คือฟื้นฟูหลังจัดการหนี้ 54 ล้านบาท แล้วก็มีงบการตลาด 17 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่จะใช้อบรมเชิงปฏิบัติการกับชาวบ้าน
เปิดประวัติอดีตเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ มือไม้อำนาจเก่า
มีรายงานว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำงานของนายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรคนปัจจุบันที่ถูก คสช.เรียกเข้าไปรายงานตัวชุดแรกภายหลังเข้าควบคุมอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 และเป็นคนใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร รวมถึงคนสนิทสนมกับ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตรองเลขาฯ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สำหรับนายวัชระพันธุ์ จันทรขจร มีชื่อเล่นว่า "โป๊ะ" ถือเป็นเป็นอีกหนึ่งสหายที่เข้าป่าที่เขตน่าน มีความใกล้ชิดกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือหมอมิ้งค์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทักษิณ รวมทั้งสนิทสนมกับนายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นมือไม้ทำงานให้กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นนักยุทธศาสตร์ตัวฉกาจคนหนึ่ง มีความสนิทสนมกับอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และยังสนิทสนมกับคุณหญิงอดีตภรรยาของนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง อักษรย่อตัว อ.
นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร
ที่มา ผู้จัดการ online 19 พฤษภาคม 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.