เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในงานสัมมนา "Policy Directions toward Thailand 4.0-ทิศทางของนโยบายเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0" นายอัทธ์ พิศาลวานิช รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในหัวข้อ "การปรับตัวของเกษตรกรไทยในยุคประเทศไทย 4.0" ว่า ได้ได้สำรวจเกษตรกรรมไทยทั้งประเทศ 1,000 ตัวอย่าง สินค้าเกษตร 14 รายการ ใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผัก ผลไม้ กลุ่มพืชไร่ กลุ่มปศุสัตว์ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 พบว่าภาพรวมเกษตรกรไทยมีคะแนนเฉลี่ย 1.42 จากเต็ม 4.0 หรืออยู่ในยุค 1.42 จากยุค 4.0 เนื่องจากเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านการเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับตนเองและความรู้ทางการตลาด รวมไปถึงยังไม่ค่อยมีการแปรรูป ผลิตอย่างเดิมแล้วขายเลย และไม่ค่อยสนใจทำเรื่องการจัดจำหน่าย ช่องทางการขายรวมทั้งออนไลน์ จึงควรเร่งทำเรื่องเหล่านี้โดยเร่งด่วน เพื่อให้ก้าวเป็นเกษตร 4.0 โดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคววรทยอยทำให้มีต้นแบบเกษตร 4.0 ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี หากรอให้เกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียวในแผนชาติอีก 20 ปี มองว่าจะช้าไป
นายอัทธ์กล่าวว่า จากภาพรวมเกษตรกรไทยที่อยู่ยุค 1.42 แยกย่อยเป็นกลุ่มเกษตรผักผลไม้ เฉลี่ยอยู่ในยุค 1.69 เช่น กล้วยหอม เมล่อน มะม่วง เป็นต้น เริ่มมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า รัฐส่งเสริม แต่ยังขาดความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งไอที ภาษา การวางแผนการผลิต กลุ่มเกษตรพืชไร่ เฉลี่ยอยู่ในยุค 2.27 เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เป็นต้น โดยยังไม่ค่อยมีการแปรรูปสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม และขาดความรู้ในการผลิต การทำการตลาดสมัยใหม่ผ่านทางออนไลน์ สำหรับกลุ่มเกษตรปศุสัตว์อยู่ในยุค 1.74 เช่น สุกร ไก่ไข่ โค เป็นต้น โดยภาพรวมคุณภาพผลผลิตแและการเก็บเกี่ยวไม่ค่อยดีนัก และยังขาดความรู้การวางแผนผลิตจำหน่าย และการทำตลาดสมัยใหม่
นายอัทธ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ยังพบปัญหาของเกษตรไทยหลายอย่าง ได้แก่ ไม่มีความรู้ตลาดต่างประเทศและการหาตลาดใหม่ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเพาะปลูกแบบเดิมๆ ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ตัดสินใจใช้ความเชื่อมากว่าเหตุผล ขาดการทำบีญชี ขาดแรงงานคนรุ่นใหม่ แรงงานภาคเกษตรอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ราคาผลผลิตขาดเสถียรภาพ การใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่เหมาะสม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เกษตรกรายย่อยยังมีข้อจำกัดในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น
นายอัทธ์กล่าว่าว่า การผลักดันให้ถึงเกษตร 4.0 ต้องทำทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้แก่ ส่วนต้นน้ำ มีระบบการบันทึกและนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผลการผลิต การเพาะปลูก และบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ใช้เทคโนโลยีและนวักรรมในการผลิต มีความรู้และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานต่างๆ ระดับสากล เช่น GAP IFOAM มีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ไร่ นา หรือฟาร์ม ทำเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว ส่วนกลางน้ำ จะต้องมีความรู้และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานองค์การอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานอื่นๆ ที่เป็นมาตรฐานสากล สามารถจำหนาย่ได้หลากหลายตลาด เช่น ฮาลาล ใช้นวัตกรรมยืดอายุสินค้าให้คงความสดและสารอาหารครบถ้วน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสังคมคนรุ่นใหม่ ส่วนปลายน้ำ ทำการตลาดโดยใช้จุดแข็งของสินค้า สร้างเรื่องราวให้กับสินค้า ผลิตสินค้าให้ปลอดภัย ได้มาตรฐานในระดับสากล ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าและตรงกับความต้องการตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของตลาดเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น จำนวนการสั่งซื้อ วันเวลาสั่งซื้อ เพื่อนำข้อมูลมาช่วยคาดการณ์การผลิต
ที่มา : มติชน วันที่ 29 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.