โลโคลแอคเผยผลศึกษา ชาวนาภาคกลางมีเศรษฐกิจเปราะบาง ไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ไม่สามารถลดพื้นที่ทำนาปรังได้ ชี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่ควรซ้ำเติมปัญหาชาวนาแต่ควรแก้ที่ต้นเหตุ สร้างแรงจูงใจให้ผลิตหลากหลาย มีรายได้จากหลายทางและมีทางเลือกมากกว่าทำนาเพียงอย่างเดียว
26 มี.ค. 2560 อารีวรรณ คูสันเทียะ นักวิจัยจากมูลนิธิชีวิตไท (โลโคลแอค) เปิดเผยรายงานผลการศึกษาเรื่อง "ศักยภาพชาวนาในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง" ว่าเหตุผลหลักที่ชาวนาภาคกลางไม่ลดพื้นที่ทำนาปรัง เพราะมีปัญหาเรื่องนาเช่า ภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูง นอกจากนี้ ยังชี้ด้วยว่ามาตรการช่วยเหลือชาวนาของรัฐยังไม่ตอบโจทย์ แต่จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาชาวนาให้หนักขึ้น เสนอว่าภาครัฐควรปรับมาตรการช่วยเหลือชาวนาโดยแก้ที่ต้นเหตุคือความเปราะบางในเศรษฐกิจครอบครัวชาวนา ควรตรวจสอบความต้องการของชาวนาระดับพื้นที่ก่อนกำหนดนโยบายเฉพาะจุด และควรสร้างแรงจูงใจให้ชาวนามีทางเลือกมากขึ้น สนับสนุนการทำเกษตรรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำนา หรือความเสี่ยงจากการทำเกษตรเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
นางสาวอารีวรรณ กล่าวว่า ชาวนากว่า 3.7 ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศ แม้จะเป็นผู้ผลิตข้าวสร้างรายได้จาการส่งออกข้าวมากถึงปีละ 80,000-100,000 ล้านบาท แต่ชาวนาส่วนใหญ่กลับมีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีรายได้เฉลี่ยเพียง 271 บาท ต่อไร่ ต่ำสุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่น งานศึกษาพบว่าในจังหวัดชัยนาท และราชบุรี ชาวนายังคงต้องทำนา แม้จะมีอายุสูงถึง 77 ปี และ 80 ปี โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาแค่ชั้นประถม มีร้อยละ 5 เท่านั้น ที่จบการศึกษาปริญญาตรี และยิ่งทำการผลิตเข้มข้นด้วยสารเคมีมาก ก็จะยิ่งมีหนี้สินมาก โดยชาวนาจังหวัดชัยนาทที่มีการทำนาแบบเข้มข้นมีหนี้สินเฉลี่ย 489,591 บาท ต่อครอบครัว ขณะที่ชาวนาราชบุรี ที่ทำนาเข้มข้นน้อยกว่า มีหนี้สินเฉลี่ย 225,979 บาท ต่อครอบครัว
นอกจากนี้ งานศึกษายังพบด้วยว่า ชาวนาภาคกลางในจังหวัดราชบุรี ร้อยละ 82 มีที่ดินทำกินไม่เกินครอบครัวละ 5 ไร่ ส่วนในจังหวัดชัยนาท ร้อยละ 29 ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และร้อยละ 40 ต้องเช่าที่นาคนอื่นทำนา โดยพบว่าต้นทุนค่าเช่านา คือสัดส่วนที่สูงที่สุดของต้นทุนทำนาทั้งหมด คือร้อยละ 23 จากต้นทุนทำนาเฉลี่ย 4,812 บาท ต่อไร่ ในขณะที่พบด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชาวนาภาคกลางปัจจุบันสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และภาระส่งลูกเรียนระดับปริญญาตรี ซึ่งสูงเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครอบครัวชาวนาทั้งหมด โดยชาวนาชัยนาทมีค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 16,546 บาท ส่วนชาวนาราชบุรีมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 11,600 บาท
"ปัญหานาเช่า ภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว และภาระหนี้สิน จึงเป็นสามเหตุผลหลักที่ทำให้ชาวนาภาคกลางยังเดินหน้าทำนาต่อไป ไม่ใช่ชาวนาไม่ต้องการปรับตัว ที่ผ่านมาชาวนาพยายามปรับตัวตามนโยบายรัฐมาโดยตลอด แต่ด้วยเงื่อนไขความเปราะบางของเศรษฐกิจในครอบครัว ทำให้ชาวนาภาคกลางต้องทำนาอย่างต่อเนื่องเพื่อหมุนหนี้ และไม่สามารถปรับตัวตามนโยบายงดทำนาปรังของรัฐได้" นางสาวอารีวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสงวน ทับบุรี ชาวนาวัย 59 ปี จากจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า "ตนเองมีภาระหนี้สินสะสมทั้งกับ ธ.ก.ส.และหนี้นอกระบบกว่า 5 แสนบาท ทำให้ตัดสินใจขายที่นา ที่มีอยู่ทั้งหมด 6 ไร่ เพื่อใช้หนี้เร่งด่วน ปัจจุบันเช่าที่นาที่เคยเป็นของตนเอง รวมกับที่นาแปลงข้างเคียงรวม 21 ไร่ ต้องจ่ายค่าเช่าโดยคิดจากราคาข้าวเปลือก 15 ถังต่อไร่ ต่อหนึ่งรอบการผลิต หรือเฉลี่ย 800 บาท ต่อไร่ต่อหนึ่งรอบ หากไม่ทำนาปรังต่อเนื่องปีละ 3 รอบ เจ้าของนาก็จะไม่ให้เช่าที่นาต่อ เพราะเจ้าของนาสูญเสียผลประโยชน์"
งานศึกษาของโลโคลแอค มีข้อเสนอด้วยว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาชาวนาให้ตรงจุด ด้วยการลดภาวะข้อจำกัด ความเปราะบางในเศรษฐกิจของครอบครัวชาวนา ทั้งในเรื่องปัญหานาเช่า ภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายในครอบครัว ไม่เช่นนั้นมาตรการช่วยเหลือชาวนาด้านต่างๆ ของรัฐอาจไม่บรรลุผล หรืออาจซ้ำเติมปัญหาชาวนาให้หนักขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ ดังเช่น มาตรการงดปล่อยน้ำทำนาปรัง ที่อาจทำให้ชาวนาที่แบกภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายที่สูงไม่มีทางออกให้กับครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะเครียด และเพื่อที่จะแก้ปัญหาชาวนาได้อย่างตรงจุดแบบไม่เหมารวม ภาครัฐควรตรวจสอบความต้องการของชาวนาในระดับพื้นที่ ควรหาแนวทางในการสร้างแรงจูงใจให้ชาวนามีทางเลือกที่มากขึ้น สนับสนุนการตัดสินใจในการทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ ที่จะมีรายได้จากหลายทาง เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำนาเพียงอย่างเดียว หรือทำเกษตรเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ที่มา : นักข่าวพลเมือง (THAIPBS) วันที่ 27 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.