พอช.ร่วมมือกับไทยพีบีเอสและองค์กรภาคีเครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติร่วม ๑๐ องค์กร ผลักดันงานทรัพยากรดิน น้ำ ป่าสู่หน้าจอ
บันทึกความร่วมมือพร้อมจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายการ “บ้านดอนดินดี” และโครงการสื่อศิลป์ ดิน น้ำ ป่า ทั้งมีการเสวนาเรื่อง “รักษ์โลก...ก่อนที่โลกจะหมดรักเรา” เมื่อ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ อาคารศูนย์การเรียนรู้ สำนักงานใหญ่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
โดยทางพอช.ร่วมมือกับไทยพีบีเอสและองค์กรภาคีเครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติร่วม ๑๐องค์กร ได้แก่ สำนักงานปฏิรูป กลุ่มปฏิบัติการท้องถิ่นไร้พรมแดน (LOCAL ACT) เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลุ่มธุรกิจโคคา โคล่า (ประเทศไทย) มูลนิธิโกมล คีมทอง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK PARK)
นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอสกับองค์กรภาคีด้านทรัพยากรธรรมชาติในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการทำงานรูปแบบเครือข่ายจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ทุกฝ่ายล้วนเห็นความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน โดยเฉพาะในส่วนของไทยพีบีเอส จะให้ความใส่ใจกับประเด็นนี้เป็นอับดับต้นๆ ถือเป็น ๑ใน ๘ ยุทธศาสตร์เนื้อหารายการที่ต้องนำเสนอออกสู่สื่อสาธารณะ”
โดยความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายภายใต้ ๒โครงการ โครงการแรกคือ การผลิตรายการ "บ้านดอนดินดี" ที่พัฒนาเนื้อหาประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัยรายการนี้มีแนวคิดสำคัญคือ การสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงสถานการณ์ปัญหาเรื่องที่ดินในสังคมไทย สิทธิชุมชน โฉนดชุมชน การจัดการที่ดิน ไปจนถึงกลไกในการปฏิรูปการจัดการที่ดิน โดยพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวให้ทั้งคนเมืองและคนชนบทเข้าใจปัญหานี้ของสังคมไทยร่วมกัน เพราะประเด็นปัญหาที่ดิน ทำกิน และที่อยู่อาศัยเป็นผลกระทบหนึ่งของการพัฒนาประเทศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างการสื่อสารสู่สาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญให้ประชาชนรู้และเข้าใจมากขึ้นรวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนจัดการตนเองได้สอดคล้องกับนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กล่าวว่า
“ในการทำงานร่วมกัน คือการสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการเชื่อมโยงเป้าหมายร่วมเพื่อต่อยอดในการหาทางออกของผลกระทบ และประเด็นปัญหาของสังคมระดับโครงสร้างเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกินเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน การผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินสำคัญคือ การส่งเสริมให้พื้นที่ต้องจัดการตนเองได้และหน่วยงาน ภาคส่วนอื่นๆเป็นผู้สนับสนุน ”
นอกจากนี้นายอัมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)กล่าวถึงความร่วมมือว่า “ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นเรื่องใหญ่มาก มีคนเดือดร้อนเยอะมาก จากตัวเลขของคนที่ลงทะเบียนแก้ปัญหาความยากจนในปี ๒๕๔๗ มีคนเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและอยู่อาศัยกว่า ๓.๙ ล้าน จากคนที่ลงทะเบียนทั้งหมด ๘.๕ ล้านคน ซึ่งพอช.เป็นหน่วยงานที่ช่วยหนุนเสริมพี่น้องชุมชนให้แก้ปัญหาในพื้นที่และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายอย่างมีพลังต้องมีภาคส่วนอื่นๆร่วมด้วยทั้งเจ้าของปัญหา จนถึงภาครัฐ ดังเช่นปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและมีผู้เดือดร้อนมากอีกทั้งการแก้ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องยาก ดังนั้น สิ่งที่ควรนำเสนอผ่านจอต้องทำให้สังคมเห็นประเด็นปัญหาและทางออก ซึ่งมีตัวอย่างของพื้นที่ๆสามารถแก้ปัญหาได้
นอกจากการร่วมนำเสนอสู่หน้าจอแล้ว ความร่วมมือหลังจอในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมทั้งในเรื่องข้อมูล เนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ เป้าหมาย วิธีการทำงาน และความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาแนวทาง วิธีการทำงานร่วมกันของภาคีความร่วมมือ ดังที่นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิต ผู้ประสานงานกลุ่มปฏิบัติการท้องถิ่นไร้พรมแดน (LOCAL ACT) เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน กล่าวว่า “LOCAL ACT เป็นองค์กรเล็กๆที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ ร่วมผลักดันการปฏิรูปที่ดิน รวมถึงช่วยเหลือชาวบ้านในการต่อสู้คดีที่ดิน การทำงานที่ผ่านมากับชุมชนได้ร่วมมือกับหลายฝ่ายเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และภาคีอื่นๆ ทำให้การแก้ไขปัญหาได้รับความสำคัญมากขึ้นในสังคม แต่ทุกวันนี้ความรู้ความเข้าใจเรื่องที่ดินไม่ค่อยได้ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง มีเพียงข่าวเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวและประเด็นปัญหา หากความร่วมมือในวันนี้คือการร่วมกันขยายความร่วมมือที่มากกว่าทำหน้าจอ แต่เราทำกิจกรรมหลังจอด้วย”
“รายการบ้านดอนดินดี” จึงเป็นผลิตผลของความร่วมมือเพื่อเผยแพร่ให้เห็นในสถานการณ์ของปัญหาการใช้ที่ดิน ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งของคนที่มีความเดือดร้อนโดยตรงและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากการครอบครองและใช้ที่ดินผิดประเภท ให้เป็นที่รับรู้ เข้าใจในสาธารณะ และกำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศนไทยพีบีเอสในเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป
โครงการที่สองคือ โครงการสื่อศิลป์ ดิน น้ำ ป่า เป็นโครงการที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้เยาวชน altคนรุ่นใหม่ มีโอกาสแสดงศักยภาพ และเรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์สื่อ และงานศิลปะ ได้ร่วมกันสื่อสารเนื้อหาที่เป็นคุณค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ภายใต้แนวคิด “รักษ์โลก ก่อนที่โลกจะหมดรักเรา” เพื่อให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหานี้ในแง่มุมต่างๆ ก่อนที่จะสายเกินไป โดยผลงานสื่อดังกล่าวจะมีการนำไปเผยแพร่สู่ช่องทางของภาคีเครือข่ายและช่องทางของไทยพีบีเอส เพื่อเป็นสื่อรณรงค์ทางสังคมต่อไป ทั้งนี้ มีการเปิดรับสมัครเยาวชน อายุตั้งแต่ ๑๓-๒๕ ปี เข้าร่วมโครงการ เพื่อประกวดผลงานการจัดทำสื่อ ๔ ประเภท คือ สปอร์ตโทรทัศน์ ความยาวไม่เกิน ๖๐ วินาที หนังสั้น ความยาวไม่เกิน ๒๐นาที เพลง-ดนตรีโฟล์คซอง เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ ๑ เพลง และภาพถ่าย จำนวนไม่เกิน ๕ ภาพ ต่อคน โดยผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจะมีโอกาสเข้าร่วมอบรมเทคนิคการทำสื่อกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ พร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติการของเครือข่าย เพื่อเรียนรู้เนื้อหา ประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า มาเป็นข้อมูลในการผลิตสื่อที่ตนเองจะส่งเข้าประกวด
เยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถดูรายละเอียดการรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ทาง www.thaipbs.or.th/mediaart
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.