GISTDA เผยไร่ข้าวโพดน่านปี′59/60 แตะ 1.5 ล้านไร่ เพิ่มกลับมาเท่าปี′57 ด้านเกษตรกรชี้ 2 ปีมาตรการลดข้าวโพดปลูกป่า-ลดนาปรังปลูกข้าวโพดไม่ได้ผล ความพยายามในการแก้ปัญหาการบุกรุกถางป่า เพื่อทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดน่าน เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดหันมาปลูกป่าฟื้นฟูป่าต้นน้ำผ่านมาครบ 2 ปี สถานการณ์การปลูกข้าวโพดใน จ.น่านยังคงเท่าเดิม
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการติดตามสถานการณ์พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด จ.น่าน จากข้อมูลดาวเทียมในช่วงฤดูฝน เบื้องต้นพบว่าในช่วง 3 ปีนับจากปี 2557 มีพื้นที่ปลูก 1.5 ล้านไร่ และปรับลดลงเหลือ 1.3 ล้านไร่ในปี 2558 และในปี 2559 กลับเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.5 ล้านไร่
"หากเทียบพื้นที่ปลูกอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ 90-100% ยังปลูกบนพื้นที่เดิมที่เคยมีการปลูกข้าวโพด อาจจะมีบางอำเภอปลูกเพิ่มหรือบางอำเภอลดลงในแต่ละปีขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคา แต่ภาพรวมที่พบมีเพียง 1.5 ล้านไร่ ต่ำกว่าร่องรอยการปลูกที่เคยมีการถ่ายภาพไว้ในช่วงฤดูแล้ง 1.8-1.9 ล้านไร่ ส่วนปัญหาการตัดป่าเพื่อเปิดพื้นที่ปลูกใหม่ขนาดใหญ่ ๆ อย่างที่เคยทำในอดีตเมื่อ 10-20 ปีก่อนแทบจะไม่มีแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมีโอกาสจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงประมาณ 10-15% เช่น หากมีเมฆหมอกหรือมีฝน ภาพถ่ายอาจจะไม่ตรงกับภาพถ่ายในช่วงฤดูแล้ง เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ปัญหาพื้นที่ป่าที่ปรับลดลงนั้น ดร.อานนท์ระบุว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่ป่าหายไปประมาณ 2-3% หรือเฉลี่ยปีละ 1% ซึ่งถือเป็นอัตราลดลงที่ชะลอตัวเทียบกับ 10-20 ปีก่อน
"สาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดปรับพื้นที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด แต่มีการปลูกไม้ยืนต้นเสริมกลับมาบ้างในบางพื้นที่ โดยในส่วนของ GISTDA ได้รวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกให้กับมูลนิธิกสิกรไทย เพื่อประเมินจัดทำโครงการส่งเสริมฟื้นฟูการปลูกไม้ยืนต้นในป่าด้วย"
ดร.อานนท์กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันจากการเผาป่า ที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมักจะเผาเตรียมพื้นที่ในปีนี้จะเริ่มมีปริมาณสูงสุดประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคม เพื่อลงเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดปี 2560 ในช่วงเมษายนก่อนที่จะไปเก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน
"GISTDA มีการจัดทำข้อมูลเพื่อรวบรวมสถานการณ์เผาไหม้ (Hot Spot) ในพื้นที่ 9 จังหวัดที่เกิดปัญหาหมอกควันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากย้อนไปในช่วง 1-2 ปีจะพบว่าจุดความร้อนน้อยกว่า แต่อาจจะมาแรงแซงทางโค้งก็ได้ เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่มีการเผาพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อเตรียมดิน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์ช่วงที่มีการเผาสูงสุดของปีประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน"
ด้านนายเดชา บุตรโต เลขาธิการประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมารัฐมีมาตรการทั้งการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพื่อมาปลูกข้าวโพด และมาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า แต่ทั้ง 2 มาตรการยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
"เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ไม่ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกข้าวโพดเพราะไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดของโรงงานอาหารสัตว์จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวโพดต่อไปเพื่อความมั่นคงทางรายได้"
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในปี 2560/2561 จะมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะในจังหวัดน่านคาดว่าจะเหลือเพียง 5 แสนไร่จากปีก่อนที่ปลูกประมาณ 8.2-8.3 แสนไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่สำคัญ สาเหตุที่ปลูกลดลงไม่ใช่ผลจากมาตรการรัฐ แต่เป็นเพราะเกษตรกรไม่มีเงินลงทุน และปัญหาการรับซื้อข้าวโพดในอัตรา 3 : 1 ตามมติคณะรัฐมนตรี ยังไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน เกษตรกรเกรงจะซ้ำรอยกับปีก่อน ที่บริษัทมักจะอ้างปัญหาเรื่องการไม่มีเอกสารสิทธิว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ มีการบุกรุกพื้นที่ป่าจึงไม่ซื้อ ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งไม่พอใจเพราะซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทมาปลูกแล้วถูกปฏิเสธการรับซื้ออีกทั้งรัฐบาลกำหนดให้รับซื้อข้าวโพดความชื้น14.5%ในราคากิโลกรัมละ8บาท แต่ในท้ายที่สุดเกษตรกรส่วนใหญ่ขายเป็นข้าวโพดหักสด ความชื้นสูง 25-30% ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนกิโลกรัมละ 6 บาท
"ปีก่อนมาตรการ 3 : 1 ก็ไม่ชัด แต่พื้นที่ไม่ลด เพราะเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจากบริษัทมาก่อนแล้ว จึงต้องปลูก แต่ถ้าปีนี้หากสถานการณ์เกี่ยวกับการรับซื้อยังไม่ชัดเจนอีก เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจคงลดพื้นที่ไม่ปลูกข้าวโพดไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.