อีกฟากหนึ่งของโลก ประเทศโซมาเลียเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งลุกลามทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภาวะอดอยากในแคว้นทางใต้มากกว่า 110 คน ขณะที่ประเทศไทยภัยแล้งลุกลามหนักเช่นกัน แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตจากความอดอยาก เพียงแต่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเท่านั้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายพื้นที่หลายจังหวัดต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้เอง เกษตรกรหลายจังหวัดต้องทิ้งนาไร่อพยพไปทำงานต่างถิ่น
ความแห้งแล้งเริ่มคุกคาม จ.ศรีสะเกษ หนัก แหล่งน้ำหลายแห่งเริ่มแห้งขอด ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำแล้วหลายตำบลหลายหมู่บ้าน เช่นที่ ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ 6 หมู่บ้านเริ่มไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคแล้ว ต้องสั่งซื้อน้ำจากพ่อค้าเร่ขายน้ำเพื่อนำมาใช้อาบ ล้างจาน และซักเสื้อผ้า นอกจากนี้ ยังพบว่าตามหอพักต่างๆ ที่อยู่บริเวณรอบๆ ชานเมือง ต้องสั่งซื้อน้ำบ่อจากรถเร่ขายน้ำ เนื่องจากบ่อน้ำบาดาลที่ขุดเจาะไว้สูบน้ำขึ้นมามีสีเหลืองขุ่นข้น และมีคราบตะกอนจับ แถมมีรสชาติเค็มไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคได้
คำปุน โพธิ์ขาว แม่ค้ารถขายน้ำ บอกว่า หน้าแล้งปีนี้มาเร็ว ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านสั่งซื้อน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งใช้รถบรรทุกขนาด 4 ล้อ สามารถบรรทุกถังน้ำขนาด 1,500 ลิตรได้ 2 ถัง รวมเป็น 3 ลิตร ขายในราคาถังละ 130 บาท ทุกวันจะนำรถมาบรรทุกน้ำที่บ่อเพื่อนำไปส่งให้ลูกค้าตลอดทั้งวัน และในช่วงนี้น้ำเริ่มขาดแคลนเนื่องจากบ่อบาดาลที่ชาวบ้านขุดเจาะไว้สูบน้ำไม่ขึ้นเพราะมีน้ำซึมออกมาน้อย จึงหันมาสั่งซื้อน้ำจากพ่อค้าขายน้ำ ทำให้มีคิวยาวเหยียดในช่วงสภาวะที่กำลังเริ่มขาดแคลนน้ำ คาดว่าในเดือน เม.ย.นี้ ชาวบ้านจะสั่งซื้อน้ำจนส่งให้แทบไม่ทันเลยทีเดียว
เช่นเดียวกับที่ จ.บุรีรัมย์ ภัยแล้งเริ่มคุกคามตั้งแต่ต้นฤดู โดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก ที่ใช้ทั้งการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และเลี้ยงปลากระชัง ขณะนี้ระดับน้ำมีสภาพลดลงอย่างรวดเร็ว บางจุดตื้นเขินจนเห็นสันดอนทราย จากสภาวะดังกล่าวเกษตรกรทั้ง 10 หมู่บ้านใน ต.ท่าม่วง อ.สตึก จึงต้องงดใช้เครื่องสูบน้ำทุกชนิดสูบน้ำมูลขึ้นมาทำนาปรังตามประกาศของทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าม่วง เพื่อสำรองน้ำในลำน้ำมูลไว้ใช้ในการผลิตประปาบริการประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
จากข้อมูลเกษตรกรทั้ง 10 หมู่บ้าน เคยเพาะปลูกข้าวนาปรังมากกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 แล้วที่เกษตรกรต้องงดทำนาปรังตามประกาศขอความร่วมมือของทางภาครัฐ ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปรับจ้างยังต่างถิ่น หรือทำอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ต้องปล่อยพื้นที่ที่เคยทำนาปรังทิ้งร้าง
จันทรา ศาลางาม เกษตรกรบ้านส้มโฮง ต.ท่าม่วง อ.สตึก บอกว่า แม้ช่วงนี้จะยังไม่เข้าสู่ฤดูแล้งเต็มตัว แต่ปริมาณน้ำในลำน้ำมูลก็เริ่มลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ทาง อบต.ท่าม่วงจึงได้ประกาศให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ติดริมน้ำมูลงดทำนาปรัง ซึ่งเกษตรกรก็ให้คามร่วมมือไม่ใช้เครื่องสูบน้ำทุกชนิดสูบน้ำจากลำน้ำมูลขึ้นมาทำนาปรัง เพราะเกรงน้ำจะไม่เพียงพอผลิตประปา ทั้งหากสูบน้ำมาทำนาปรังเกรงน้ำจะตื้นเขินแห้งขอดจนอาจส่งผลกระทบกับปลาและสัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัยและสูญพันธุ์ได้ จึงอยากร้องขอให้ภาครัฐเร่งเข้ามาสำรวจสร้างฝายหรือเขื่อนยางเพื่อกักเก็บน้ำมูลไว้ใช้ผลิตประปา ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดทั้งปีด้วย
ขณะที่ ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท นาข้าวกว่า 1 หมื่นไร่ ถูกทิ้งร้าง หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เริ่มส่อเค้ารุนแรง
ไสว พิมทอง ชาวนา ต.ธรรมามูล บอกว่า อากาศที่ร้อนจัดในช่วงเวลากลางวัน ทำให้น้ำในแหล่งน้ำแก้มลิงธรรมชาติเริ่มแห้งขอดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทางราชการขอความร่วมมือให้งดการทำนาปรัง เพราะจะไม่มีการจัดสรรน้ำให้ ทำให้ชาวนาเริ่มไม่มั่นใจว่าจะทำการเพาะปลูกพืชชนิดใดได้ เพราะหากปลูกพืชทดแทนแต่หากในช่วงหน้าแล้งไม่มีน้ำเหลือให้ใช้ ผลผลิตก็จะเสียหาย ส่วนใหญ่จึงไม่อยากเสี่ยงที่จะเพาะปลูกในระยะนี้
วิกฤตภัยแล้งกำลังคุกคามหนักทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 มี.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.