แม้ข้าวจะเป็นพืชอาหารหลักและพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของคนไทย แต่ชาวนาไทยส่วนใหญ่กลับยากจน จากตัวเลขปี 2556 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้เฉลี่ยต่อไร่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น คือมีรายได้เฉลี่ย 271 บาทต่อไร่ ขณะที่เกษตรกร 5.6 ล้านครัวเรือน มีชาวนากว่า 3.7 ล้านครัวเรือน หรือ ร้อยละ 66 ของเกษตรกรทั้วประเทศ
นอกจากนี้วิถีชีวิตของชาวนาไทยจำนวนมากยังวนเวียนอยู่ในวงจรหนี้สินที่ยากจะหลุดพ้น ท่วมกลางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่บีบขับให้พวกเขาต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
วันนี้ (22 ก.พ.2560) มูลนิธิชีวิตไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายชาวนา จัดเสวนาวิชาการสาธารณะ "วิกฤติชาวนา การปรับตัวครั้งใหม่เพื่อความอยู่รอด" ที่ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ "ศักยภาพชาวนาและเกษตรกรในการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่สุขภาวะ" ซึ่งได้ลงไปศึกษาข้อมูลร่วมกับเกษตรกรใน 3 พื้นที่ คือ 1.กลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท 2.ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองแค ต.นางลือ อ.เมืองชัยนาท และ 3.สมาคมแรงงานนอกระบบภาคกลาง ต.นาเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อารีวรรณ คูสันเทียะ หนึ่งในนักวิจัยมูลนิธิชีวิตไทย กล่าวว่า ศักยภาพการปรับตัวของชาวนาภาคกลางซึ่งการผลิตเป็นไปอย่างเข้มข้น มีการเพาะปลูกราว 3 ครั้งต่อปี จึงมีปัจจัยเสียงเรื่องสุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม และภูมิปัญา จึงมีการประเมินร่วมกันถึงทิศทางความอยู่รอด และทิศทางความยั่งยืนในอาชีพนี้
ข้อค้นพบหลัก คือ ชาวนาเมื่อเจอเงื่อนไขจะเลือกปรับตัว โดย 1.เลือกทำการเกษตรที่หลากหลาย ทำให้เห็นได้ว่าจำนวนคนทำนาลดลง 2.ลดต้นทุนการทำนา เพื่อไม่ให้ขาดทุน โดยลดใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ใช้แรงงานตัวเอง เก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกเอง แต่เหล่านี้จะเป็นการปรับตัวเป็นครั้งคราว ไม่ได้เป็นการปรับโครงสร้าง
3.มีการปรับตัวเพื่อดำรงอาชีพ ด้วยความพอใจส่วนตัวมากกว่า โดยจากแบบสอบถามชาวนาร้อยละ 80 ภูมิใจและพอใจในอาชีพเกษตร เป็นวิถีที่เลือก 4.รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และ 5.ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการตลาด โดยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ ในการผลิดและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อย่างที่ ต.นางลือ
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของชาวนาร้อยละ 99 ทำไม่ได้ ถ้าไม่มีการสนับสนุนหรือนโนบายที่เอื้อต่อการลดข้อจำกัดของชาวนาที่มีต้นทุนชีวิตต่ำ ไว้ว่าจะเป็น การขาดแคลนที่ดิน หรือพื้นที่ทำกินน้อยไม่เพียงพอต่อการผลิต การมีภาระหนี้สินจากการลงทุน อุปสรรค์เรื่องความรู้ การขาดการศึกษา อีกทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของชาวนา ซึ่งอายุเฉลี่ยของชาวนาทั้ง 3 พื้นที่คือ 65 ปี ยกเว้นที่ ต.นางลือที่มีชาวนารุ่นใหม่อายุเฉลี่ยอยูที่ 50 ปี
อีกทั้ง ชาวนายังมีความเสี่ยงจากระบบนิเวศน์ที่เปราะบาง ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาของการบริหารจัดการน้ำ และทรัพยากรการผลิตที่เสื่อมโทรมลง ตรงนี้จะต้องมีการฟื้นฟูขึ้นมา
นอกจากนี้ องค์ความรู้เรื่องกระบวนการผลิตและการตลาดเป็นสิ่งที่ชาวนาควรได้รับการหนุนเสริม
ส่วน ผศ.ดร.ธนพันธุ์ ไล่ประกอบทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเสี่ยงของชาวนาไม่มาจากเพียงตัวชาวนา แต่มาจากนโยบายของรัฐ จากการผลักดันให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออก ต้องการได้พืชโตเร็วผลผลิตสูง ทำให้ไม่ทนโรคและแมลง เมื่อเทียบพืชพื้นถิ่น นำมาสู่การใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลง ส่วนรัฐเองก็เน้นการอุดหนุนระยะสั้น ใช้เงินหรือสินเชื่อ เน้นปัจเจกบุคคลมากกว่ากลุ่ม เน้นตัวชี้วัดเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ ไม่มีการหนุนเสริมศักยภาพของเกษตรกร
ทั้งนี้ ปัญหาของแต่ละพื้นที่ต่าง ตัวชี้วัดเรื่องการช่วยเหลือก็จะต่างตามพื้นที่ แต่รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมาใช้นโยบายรวมกับเกษตรกรทั้งประเทศ ส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบันมี 8 โครงการช่วยเหลือเกษตรกร 32 มาตรการ แต่ชาวนาจำนวนมากไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง ตัวอย่างโครงการที่มีข้อจำกัด เช่น โครงการลดต้นทุนเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท โครงการชะลอการขายโดยใช้สินเชื่อยุ้งฉาง โครงการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก
สรุป การใช้นโยบายที่ไม่มีการหารือคนในพื้นที่นั้นเป็นปัญหา ทั้งไม่เหมาะสมและยังอาจสร้างภาระให้เกษตรกร ส่วนตัวส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพ เพื่อเพิ่มสักยภาพในการเดินหน้าของเกษตรกร
"เกษตรเป็นอาชีพที่ปรับตัวมากที่สุด ปรับตัวมาตลอด ปรับตัวมากกว่านักวิชาการ แต่การสนับสนุนช่วยเหลือของรัฐต้องไม่เป็นแบบให้ทาน แบบทิ้งๆ ขว้างๆ"
ด้านเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวในการปาฐกถามีใจความว่า วิกฤติชาวนานั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว จากวิกฤติทางสังคม-วัฒนธรรม เป็นวิกฤติภายใน ที่เกิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนที่พยายามถอดรากถอนโคนชาวนา
ชาวนาที่เคยเป็นกระดูกสันหลังของชาติ กลายเป็นรากหญ้า กลายเป็นสวะ เป็นชาวนาที่ไม่มีปัญญา ไม่มีคุณภาพจากความร่วมมือของรัฐและทุน
สำหรับทางออก เดชาเสนอว่า ชาวนาต้องปลูกข้าวคุณภาพสูง สร้างรากของตัวเองเอาวัฒนธรรมคืนมา โดยเดินตามวิถีเกษตรพอเพียง ทำกินก่อน แล้วขายในชุมชน แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันชาวนาร้อยละ 90 จะไม่รอด เพราะเออีซีเข้ามาแล้ว อีกทั้งไม่มีการเก็บภาษีปุ๋ยยาฆ่าแมลง เราจะเห็นความล่มสลายของชาวนาได้เลย และมันจะเกิดอย่างรวดเร็วมาก แต่ชาวนาที่ฉลาดจะรอด และจะมีเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาและเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ เกิดขึ้นเอง
ชาวนาที่จะรอดต้องปรับตัวเป็นชาวสวนด้วย ทำนาอย่าเดียวไม่รอด ทั้งนี้การจะอยู่รอดได้ต้องใช้ปัญญา และต้องพึ่งตนเอง คนอื่นมาช่วยไม่ได้แล้ว
ที่มา : นักข่าวพลเมือง ThaiPBS วันที่ 23 ก.พ. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.