วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 60 ตัวแทนชาวนาจาก 2 จังหวัด จำนวนกว่า 500 คน ประกอบด้วย จากอำเภอภาชี และอำเภอนครหลวง ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี รวมตัวกันที่หอประชุมใหญ่อำเภอภาชี เพื่อรับฟังการชี้แจงของหน่วยงานกรมชลประทาน เรื่องปัญหาขนาดแคลนน้ำเพื่อนำนาปรัง หลังจากล่าสุดกรมชลประทานแถลงว่าหน้าแล้งจะเริ่มช่วงกลางเดือนกุมภาพันธุ์ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งอาจไม่มีน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ
โดยมีหน่วยงานฝ่ายปกครอง คือ นายรนัสถ์ชัย พุ่มเจริญ นายอำเภอภาชี พร้อมฝ่ายทหาร และหน่วยงานกรมชลประทาน สังกัดสำนักชลประทานที่ 10 ประกอบด้วย นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา , นายประเสริฐ เล็กรุ่งเรืองกิจ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ , นายไมตรี ปิตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ร่วมชี้แจงและรับฟังปัญหา
นายสุมล คงสัมฤทธิ์ อายุ 63 ปี แกนนำกลุ่มผู้ชี้น้ำคลองระพีพัฒน์ ชี้แจงว่า ชาวนาทำนาปรังรอบที่ 1 กันแล้ว อายุต้นข้าวประมาณ 1-2 เดือน เหตุเพราะกรมชลประทานแจ้งว่ามีน้ำให้ทำนาตั้งแต่ 30 พฤศจิกายนปีที่แล้วถึง 30 เมษายน แต่มาถึงวันนี้กลับอ้างว่าไม่มีน้ำเพื่อทำนาปรัง ถามว่าลงทุนไปแล้วใครจะรับผิดชอบ ช่วงนี้น้ำในลำคลองแทบจะไม่มี และต้นข้าวกำลังจะยืนต้นตาย โดยทุ่ง 3 อำเภอมีเนื้อที่ 84,000 ไร่ คาดว่ากว่า 50% ต้นข้าวกำลังจะแห้งตายหากไม่มีน้ำเข้ามาเติมในระบบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ส่วนนายทองอิน ศรีนวล อายุ 75 ปี ชาวนากตำบลกระจิว อำเภอภาชี ถึงกับนั่งกุมขมับในที่ประชุม เพราะว่าทำนาถึง 20 ไร่ และต้นข้าวกำลังขาดน้ำใกล้แห้งตาย
ขณะที่นายประเสริฐ เล็กรุ่งเรืองกิจ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ เป็นตัวแทนชี้แจงว่า น้ำต้นทุนในแม่น้ำป่าสักที่จะดันเข้าคลองระพีพัฒน์มีน้ำไม่มาก หากจะดันน้ำเข้าไปตามคำเรียกร้องคงจะเป็นการแย้งมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับกรม ดึงนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจะเร่งเสนอเพื่อขอให้เพิ่มการส่งน้ำ 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง ครั้งละ 2-3 วัน
อย่างไรก็ตามหลังประชุมรับฟังคำชี้แจงนานกว่า 5 ชั่วโมง ชาวนาถึงกับรับสภาพและเดินทางหลับอย่างเศร้าสร้อย และหวังเพียงให้มีพายุฤดูร้อนทำให้ฝนกระหน่ำเทลงมา
ที่มา : มติชน วันที่ 1 ก.พ. 2560