นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ติดตามประเมินผลโครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในเขตพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวใน 21 จังหวัด 1,280 หมู่บ้านๆละ 50 ครัวเรือนๆละไม่เกิน 125 ก.ก. รวม 64,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 480,000 ไร่ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ก่อนฤดูนาปีที่ผ่านมา
ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า เกษตรกรได้รับปริมาณเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 119 กก./ราย ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับจำนวนเท่าที่โครงการกำหนด โดยเกษตรกรร้อยละ 70 ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในช่วงเวลาสั้นๆในวันที่แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีการลดต้นทุนและการผลิตเมล็ดพันธุ์ อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม รวมถึงการคัดเลือกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้
ด้านความพึงพอใจต่อเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับในระดับ “มาก” เห็นว่า คุณภาพดีมาก อัตราการงอกสูง ต้นข้าวงาม สม่ำเสมอ โดยนำไปปลูกในพื้นที่เฉลี่ย 6 ไร่/ราย และจากความรู้และคำแนะนำที่ได้รับ เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์จากโครงการในอัตราลดลงจากก่อนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ยังคงสูงกว่าอัตราที่โครงการกำหนด 12.50 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บผลผลิตที่ได้คัดไว้ทำเป็นเมล็ดพันธุ์ใช้ในปีต่อไป โดยมีเกษตรกรบางรายจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์แยกออกมา
สำหรับผลผลิตซึ่งเก็บเกี่ยวแล้ว ได้รับเฉลี่ยประมาณ 383 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการเล็กน้อย (ปีการผลิต 2558/59) แต่เกษตรกรได้ข้าวที่มีคุณภาพดีกว่ามาก ยกเว้นบางพื้นที่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวมีปัญหาจากฝนตก น้ำท่วมขังแปลงนา
ทั้งนี้ เกษตรกรยังมีปัญหาและข้อเสนอ ได้แก่ โรคระบาดในช่วงระยะออกรวงทำให้ผลผลิตเสียหาย โดยต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าดูแลแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น การสนับสนุนแหล่งน้ำเสริม เช่น น้ำบาดาล หรือแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ เป็นต้น ควรมีมาตรการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตไม่ให้สูงเกินไป รวมไปถึงการส่งเสริมการผลิตข้าวแบบอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มแบบแปลงใหญ่เพื่อร่วมกันผลิตและขายผลผลิต โดยทราบช่องทางการจำหน่ายก่อนฤดูเก็บเกี่ยวจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์มากยิ่งขึ้น
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 2 ก.พ. 2560