น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เตรียมเรียก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุขหารือ ถึงแนวทางการบูรณาการเพื่อให้ไทยเดินหน้าสู่การเป็นประเทศที่การเกษตรแบบยั่งยืน ส่งเสริมการทำสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อร่วมกันทำการตลาด ยกระดับผลผลิต และรายได้ให้เกษตรกร
ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยก็ประกอบอาชีพชาวนา ในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหลายกระทรวงครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้ผลผลิตข้าวมีแหล่งกระจายอย่างมีเสถียรภาพและสม่ำเสมอ เพราะไทยปลูกข้าวจำนวนมาก สวนทางการบริโภคข้าวลดลงต่อเนื่อง จากอดีตไทยบริโภคข้าวประมาณ 10 ล้านตัน/ปี ขณะนี้บริโภคเหลือประมาณ 6-7 ล้านตัน/ปี
"เกษตรขอความร่วมมือไปยังมหาดไทยให้ชี้แจงแผนการลดผลผลิตข้าวคุณภาพต่ำเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวคุณภาพสูง หากทำตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรฯ จะได้รับเงินที่มากกว่า อาทิ ข้าวเกรดพรีเมียมอย่าง ไรซ์เบอร์รี่ สังข์หยด ข้าวอินทรีย์ มีความต้องการมาก ราคาที่ขายได้จะสูงกว่าข้าวปกติ 10-20% หากทำตามแผนของรัฐ เกษตรกรจะไม่ลำบากในการหาตลาด เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาเปิดพื้นที่ในโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศให้ขายฟรี เริ่มเปิดตัวแห่งแรกเม.ย.นี้ ขณะที่ ตลาดส่งออกก็สดใส และยังบูรณาการหน่วยงานรัฐ กระทรวงสาธรณสุข ให้รับซื้อข้าว หรือ สินค้าเกษตรคุณภาพสูง เพื่อนำไปให้ผู้ป่วยกิน เพราะคนป่วยต้องการสินค้าคุณภาพดี เพื่อสุขภาพที่ดี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เห็นด้วยและตอบตกลงแล้ว"
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า เพื่อรองรับการผลิตข้าวให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด ข้าวหอมมะลิที่ปลูกได้มากที่สุดในภาคอีสานดีมูลค่าสูงไม่น่าเป็นห่วง เหลือในส่วนของข้าวขาวที่ผลิตได้ในลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องรณรงค์จูงใจให้ชาวนาเห็นความสำคัญในการปรับเปลี่ยนแนวทางการปลูกใหม่ ให้ลดพื้นที่ลงบ้าง สร้างความสมดุลผลผลิตและการบริโภค ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มปรับโครงสร้างการปลูก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวนาบางกลุ่ม หรือ ส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เลยว่าต้องลดผลิตข้าว แต่เพิ่มคุณภาพข้าว
สำหรับการปลูกข้าวตามแผนครบวงจร หากจะผลักดันให้สำเร็จ จะต้องทำเป็นแปลงใหญ่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเกษตรกรเข้าร่วมแปลงใหญ่ไม่มาก เพราะเกณฑ์เงื่อนไขกำหนดไว้มากเกินไป โดยกำหนดให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างน้อย 50 คน พื้นที่ปลูกข้าว 1,000 ไร่ ในขณะที่เกษตรกรของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ดังนั้นจึงต้องปรับลดเงื่อนไขในปีนี้ให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเหลืออย่างน้อย 30 คน พื้นที่ปลูกข้าว 300 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่เพื่อเตรียมคัดสรรเอาไว้แล้ว การดำเนินการในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้ จะสามารถเริ่มได้ทันที
น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ข้าว ยังจะยกระดับสินค้าเกษตรอื่นๆ หลังได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) แปลงใหญ่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เกษตรทฤษฏีใหม่ ธนาคารสินค้าเกษตร แผนผลิตข้าวครบวงจร การจัดหาที่ดินทำกินและระบบส่งน้ำกระจายน้ำ เพียงพอ จึงมีแผนจะส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าตามที่ตลาดต้องการและสร้างรายได้มากกว่าข้าว เป็นสินค้าคุณภาพ ได้มาตรฐานทั้ง GAP อินทรีย์ และสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อวางจำหน่ายในตลาดโมเดิร์นเทรด สินค้าเกษตรดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้งพืช ผัก สินค้าปศุสัตว์ และประมง
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 26 ม.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.