แฉแผน "กรมวิชาการเกษตร" ลักไก่อนุมัติในหลักการ 50 คำขอให้ขึ้นทะเบียนในหลักการ "สารพิษภาคเกษตร" จากที่มีการยื่นมา 4,000 คำขอ โดยไม่สนเสียงคัดค้าน แถมยังสวนทางกับนโยบายเจ้ากระทรวง "พล.อ.ฉัตรชัย" ที่เน้นทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารพิษ
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย "เดลินิวส์ออนไลน์" ว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร มีนโยบายที่สวนทางกับนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ที่เคยกล่าวมอบนโยบายในโอกาสเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง "ผลการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2559" ให้กับผู้บริหารหน่วยงานในส่วนกลาง สหกรณ์จังหวัด ณ โรงแรม ปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค ว่า "ต้องส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกร และผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าที่มีความปลอดภัย" แต่ปรากฏว่า ในวันนี้ (19 ม.ค.) ในการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ครั้งที่ 76-1/2560 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตร ในวาระเสนอเพื่อพิจารณา พบว่า มีการพิจารณาเพิ่มเติมแหล่งผลิตสารเคมีมีพิษทางการเกษตร ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย เพียงแค่วันเดียวมีมากถึง 50 คำขอด้วยกัน นั่นหมายความว่า เป็นการเปิดทางให้มีการนำเข้าวัตถุมีพิษภาคการเกษตร ในปริมาณเพิ่มสูงขึ้น
"การอนุมัตินำเข้าสารเคมีพิษดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติในหลักการทั้งหมด 50 คำขอ แต่มีประมาณครึ่งหนึ่ง มีเงื่อนไขให้รอผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับการใช้ผลทดลองในห้องปฏิบัติการร่วมเสียก่อน หากกฤษฎีกาตีความว่าทำได้ ก็ให้ถือว่านำสารเคมีพิษ เข้าประเทศไทยได้เลย"แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการส่งเรื่องตีความดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่จะเปิดกว้างให้นำเข้าสารเคมีพิษได้โดยไม่ต้องผ่านผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งจากเดิมกำหนดให้แต่ละ "ตราสินค้า" ต้องส่งเข้าไปห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบทั้งหมด เพราะส่วนผสมอาจจะไม่ตรงกัน แต่กรมวิชาการเกษตรกลับมีแนวคิดว่าไม่จำเป็นต้องนำสารเคมีพิษไปตรวจสอบทุกตราสินค้า โดยเห็นว่า หากเคยมีการส่งสารเคมีพิษเข้าห้องปฏิบัติการแล้ว ก็จะสามารถนำเข้าได้ทันที ซึ่งแทนที่จะขัดขวางเพื่อลดทอนการนำเข้า แต่กลับเป็นการส่งเสริมนำเข้าสารพิษเข้ามา
แหล่งข่าวรายเดียวกันนี้ แจ้งต่อว่า การอนุมัติในหลักการจากที่ประชุมดังกล่าว ถือเป็นการชิมลางและตรวจสอบกระแสการต่อต้านในเรื่องการนำเข้าสารเคมี เพราะขณะนี้มีจำนวนคำขอมากถึง 4,000 กว่าคำขอ ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้พยายามชะลอไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย เพราะพล.อ.ฉัตรชัย มีนโยบายให้ลดพื้นที่ทำเกษตรเคมี และให้เกษตรกรหันมาใช้เกษตรอินทรีย์แทน เนื่องจากที่ผ่านมา มีการสะสมสารพิษทั้งในตัวเกษตรกร ผู้บริโภค ในดิน และในแหล่งน้ำ จนเกินปริมาณที่กำหนด ส่งผลให้การขายสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ ถูกตรวจสอบและตีกลับตลอดมา
"การอนุมัติในวันนี้เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของกรมวิชาการเกษตร เพราะจากนี้ต่อไปหากไม่มีใครคัดค้าน ก็จะมีการทยอยอนุมัติตามคำขอเพิ่มเติมที่รออยู่กว่า 4,000 คำขอ โดยมีกำหนดไว้คร่าว ๆ ว่า ในช่วงสิ้นเดือนม.ค.นี้ จะพิจารณาเพิ่มเติมแหล่งผลิตสารเคมีพิษภาคการเกษตร เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าสารเคมีพิษอีก 300-400 รายการ และกำหนดเป้าหมายว่าจะอนุมัติให้ทุกเดือน ๆ ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 200-1,000 คำขอ จนกว่าจะครบทุกคำขอ หรือ 4,000 กว่าคำขอที่มีเข้ามา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีกระแสการต่อต้าน" แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ได้เคยออกมาเปิดเผยถึงปริมาณสารพิษภาคเกษตร ที่มีการใช้อยู่ในประเทศไทย ว่ามีการใช้มากและตกค้างอยู่ในผลผลิตทางการเกษตร จนเกินระดับอันตราย โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ "ไทยแพน" (Thai-PAN : ThailandPesticide Alert Network) ออกมาระบุว่า ในปี 2559 พบสารพิษตกค้างถึง 66 ชนิด รวมถึงที่ "อียู"หวาดผวา 2 ชนิด ได้แก่ "คาร์โบฟูราน" พบตกค้างในพริก และ "เมโทมิล" ในฝรั่ง โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค.59 ที่ผ่านมา "ไทยแพน" จัดแถลงข่าวเปิดเผยตัวเลขหลังจากเก็บตัวอย่างผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด รวม 138 ตัวอย่าง ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง และชนิดผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ แตงโม มะม่วงน้าดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้าผึ้ง สินค้าสุ่มซื้อมาจากตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง 7 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และ อุบลราชธานี ระหว่าง 16-18 มี.ค. 2559 และตัวอย่างทั้งหมดส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการใน "อังกฤษ" เนื่องจากวิเคราะห์สารพิษตกค้างได้ถึง 450 ชนิด
โดยผลการตรวจสารพิษตกค้างอันดับ 1 คือ "พริกแดง" พบทั้งหมด 100% ของตัวอย่าง อันดับ 2 กะเพราและถั่วฝักยาว พบ 66.67% อันดับ 3 คะน้า 55.56% ส่วนผลไม้นั้น อันดับ 1 คือ ส้มสายน้าผึ้ง และฝรั่ง พบ 100% รองลงมาเป็นแก้วมังกร มะละกอ มะม่วงน้าดอกไม้ ซึ่งพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 71.4%
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 19 ม.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.