นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกร 49 จังหวัด พื้นที่ 150,000 ไร่ และปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ 32,617 ไร่ รวมพื้นที่ปรับเปลี่ยนทั้งสิ้น 182,617 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ และสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างยั่งยืน
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า กรมมีแผนขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) มีเป้าหมายการปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) 6 ล้านไร่ จากการปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ปศุสัตว์ ประมง หรือ การทำเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายพื้นที่สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ตามแผนการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรเอง แบ่งเป็น 1.แผนการปรับเปลี่ยนข้าว (N) เป้าหมาย 240,000 ไร่ ปรับเปลี่ยนเป็น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ ปลูกไม้ผล พืชเศรษฐกิจ เลี้ยงตัวหม่อนไหม ทำปศุสัตว์ และประมง 2.แผนการปรับเปลี่ยนพืชอื่น (N) ประกอบด้วย พื้นที่ทำการเกษตรข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และเกษตรผสมผสาน เป้าหมาย 60,000 ไร่ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 300,000 ไร่ ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนนโยบายผ่านระบบสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ของแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ จะใช้แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการการเกษตรไทยอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำเป็นแผนที่รายจังหวัด แบ่งข้อมูลเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคม และข้อมูลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานการเกษตรจากหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่หยิบยกมาใช้ในการดำเนินงานผ่านกระบวนงานขับเคลื่อนแบบ Single Command ของทุกจังหวัด ซึ่งเป็นการนำข้อมูลจากแผนที่ไปสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนงาน ตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปสู่เป้าหมายและให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด
เช่น ในกรณีที่มีการผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในเขตพื้นที่ที่เหมาะสม กรมจะทำการส่งเสริมเกษตรกรในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลดต้นทุนการผลิต ส่วนในกรณีมีพื้นที่การผลิตสินค้าอยู่ในเขตไม่เหมาะสม (N) ก็จะพิจารณาให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ โดยแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ตลาดมีความต้องการสูง หรือทำปศุสัตว์ (เลี้ยงโค) ทำประมง (เลี้ยงปลาน้ำจืด) แต่ถ้าเกษตรกรมีความต้องการจะทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ หรือทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ กรมก็จะให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานในการพัฒนาพื้นที่ ให้คำแนะนำพันธุ์พืชที่จะปลูกและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความช่วยเหลือโดยแจกจ่ายปัจจัยการผลิตสารเร่ง พด. ชนิดต่างๆ ที่จำเป็นให้เกษตรกรทำการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งวิธีการนี้เกษตรกรควรทำเองด้วยความขยัน อดทน และรู้จักศึกษาหาผลงานวิจัยวิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน นำมาต่อยอดและพัฒนาในการพัฒนาที่ดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะเป็นการช่วยยกระดับสภาพพื้นที่ดินจากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในระดับปานกลาง S2 หรือ S3 ได้ทันที
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 20 ม.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.