จากทางเท้าสู่ความเหลื่อมล้ำ “นิธิ” ย้ำปมนี้ ต้องรื้อ “โครงสร้างอำนาจ”
"การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจะเป็น "กุญแจ" สำคัญให้ เกิดการ"ดีด" หรือ "ผลัก" การปฏิรูปให้เกิดขึ้นหลากหลายมิติพร้อมกัน เพราะเป็นการลดการรวมศูนย์"
วันที่ 18 มิถุนายน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และอดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวปาฐกถา "แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละโลก : การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อการอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับคนอื่น จินตนาการสู่อนาคต" ที่จัดโดย คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์ ในงานการประชุมสังคมวิทยาระดับชาติ ครั้งที่ 4 "แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละโลก? วาระการวิจัยเพื่ออนาคต" ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น
ศ.ดร.นิธิ กล่าวตอนหนึ่งถึงการปฏิรูปประเทศไทยว่า ผมขอตั้งคำถามในเบื้องต้นว่าเวลาที่คนไทยพูดถึงการปฏิรูป เป็นการพูดเพื่อหาวิธีการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกทุกวันนี้ หรือมุ่งเน้นกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย
"ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่คนไทย โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษามองโลกภายนอก มักจะมองในเรื่อง "การแข่งขัน" แม้แต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ทั้งนักวิชาการ สื่อและหน่วยอื่นๆ ในสังคมต่างก็มองไปในทาง "แข่งขัน" มองว่าไทยเป็นคู่แข่งขันกับพม่า เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย และหาวิธีการว่าเราจะแข่งขันกับเขาได้อย่างไร"
ตามความเข้าใจของผม ผมคิดว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้นเกิดขึ้นเพื่อจะทำให้ประเทศในอาเซียน "ร่วมมือ" กัน เพื่อให้เป็นตลาดที่ใหญ่และมีเสน่ห์พอที่ประเทศอื่นๆ อยากจะมาลงทุน มาขายของ ไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน แต่ประเทศไทยถูกเสนอในมุมที่ว่า "เราพร้อมจะแข่งขันกับเขาหรือยัง" ซึ่งผมคิดว่ายังมีวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่มากกว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
นักวิชาการอิสระ ย้อนมองอดีตเมื่อ 100-200 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาคำตอบว่า วิธีการมองโลกในลักษณะการแข่งขัน เกิดขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อใด
"ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมี ความคิดที่เราจะเข้าไปแข่งขันกับคนที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกับเรา ผมเข้าใจไปเองว่า น่าจะมาจากวัฒนธรรมอเมริกัน โดยเฉพาะความรู้สึกว่าจะต้องเป็นที่หนึ่ง ความต้องการแข่งขันที่จะเป็นคนที่เด่นที่สุดในโลก เช่น การพยายามสร้างครกใหญ่ที่สุดในโลก ส้มตำจานใหญ่ที่สุดในโลก ล้วนมาจากแนวความคิดที่มองความสัมพันธ์กับผู้อื่นในแง่การแข่งขัน"
อดีตกรรมการปฏิรูป บอกว่าในทางตรงกันข้าม หากมองในแง่การปฏิรูป จะมองเห็นในมุมที่ให้ความสำคัญและเน้นความสัมพันธ์กับคนภายในประเทศ จะไม่นึกถึงการแข่งขัน แต่จะถึงนึก "ความเป็นธรรม" ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผมดัดแปลงนโยบายและข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ชุดอดีตนายกอานันท์ ปันยารชุน ที่ระบุว่า การปฏิรูป จะเน้นความสัมพันธ์ของคนภายใน ซึ่งผมมองว่าปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ คือ ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย และมีมานานพอสมควร
หากถามว่าความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร คำตอบง่ายๆ คือ มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจอยู่ 3 อย่างที่ขาดความสมดุล ได้แก่ รัฐ ทุน สังคม โดยที่ทั้ง 3 อย่างมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่มีความสมดุล และไม่สามารถที่จะต่อรองได้ เนื่องจากการเข้าถึงการบริหารจัดการทรัพยากรที่ ไม่เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สมดุลกัน
กล่าวคือ การบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหลายเกิดขึ้นในลักษณะที่ทำให้บางฝ่าย บางกลุ่ม เช่น รัฐ หรือกลุ่มทุนมีอำนาจในการบริหารจัดการสูง จนสังคมไม่สามารถเข้าไปถ่วงดุลและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ คำว่าทรัพยากรไม่ได้หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น เนื่องจากได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรการเมืองและทรัพยากรสังคม
โดยที่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น การศึกษา ก็นับว่าเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง ส่วนสิ่งที่จับต้องได้แต่คนมักไม่ค่อยนึกถึงว่าเป็นทรัพยากร เช่น ทางเท้า ก็ถือเป็นทรัพยากรที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่กลับถูกใช้โดยไม่เอื้อให้คนเล็กคนน้อยได้ใช้ประโยชน์มากกว่าการเดิน ทั้งที่ ทรัพยากรบนทางเท้าเป็นสิ่งที่คนทุกคนสามารถใช้ได้ ทั้งเดิน ขายของ เล่นดนตรีและเล่นละคร เรียกได้ว่าเป็นทรัพยากรของเมืองที่เปิดให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าไปใช้ได้และต่อรองได้
ความเหลื่อมล้ำที่พูดถึงนี้ ศ.ดร.นิธิ ชี้ว่า ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างค่อนข้างมาก ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่มีความสมดุลในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ นั่นก็คือ "ความอยุติธรรม" ดังนั้น เมื่อสังคมไทยเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำก็เท่ากับว่า สังคมไทยเต็มไปด้วยความอยุติธรรมเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา วันที่ 18 มิถุนายน 2555
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.