ลดพื้นที่ปลูกข้าวเหลว ชาวนาไม่สนราคาตก แห่กันทำนารอบสอง เผยติดใจรัฐพยุงราคา
"สุเมธ" เผยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงอาชีพชาวนาไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้านแนะชาวนาทุกคนนำเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่มาวางแผนปรับตัวเป็นทางรอด ด้าน "บิ๊กฉัตร" รับลดทำนารอบสองพื้นที่ 2 ล้านไร่ ไม่ประสบผลสำเร็จ เผยชาวนาติดใจรัฐมีมาตาการพยุงราคาแห่ทำนาเหมือนเดิม
นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ"นโยบายข้าวและชาวนา" พร้อมเปิดการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2559 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงชาวนาไทยเคยตรัสเสมอว่าข้าวกับชาวนาไทย เป็นวิถีชีวิตที่แยกกันไม่ออก ซึ่งปัญหาข้าวเผชิญปัญหาทั้งราคาข้าวตกต่ำ จากเศรษฐกิจโลก ปัญหาน้ำ ภัยแล้งน้ำท่วม มาตลอด ซึ่งเป็นปัจจัยตัวแปรสำคัญต้องเร่งหาทางออกอย่างไร
นายสุเมธ กล่าวว่า ตนอยากให้ชาวนาทุกคน โดยเฉพาะภาครัฐ เน้นแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ ที่มาเน้นวางแผนทำงาน เช่นการทำนา ให้เอาเรื่องทุน เป็นโจทย์ ความพอประมาณ เรื่องน้ำ เรื่องเงิน มีเท่าไหร่ และไม่ประมาท ซึ่งแนวทางของในหลวง ทรงให้ทุกคนช่วยเหลือพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด เช่นเกษตรทฤษฎีใหม่
ตนได้ส่งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ลงไปสำรวจชาวนา 600 คนในช่วงแล้งจัดซึ่งทั้งหมดอยู่รอดได้เพราะปรับตัวใช้ทฤษฎีใหม่ได้ผลดี ในขณะที่คนอื่นแย่ รวมถึงการลดพื้นที่ทำนาก็มีความจำเป็น แต่ต้องให้ชาวนาไม่รู้สึกว่าลดวิถีชีวิตของเขาหรือทำให้เสียรายได้ ถ้าสลับปลูกพืชอื่น ทำให้เขารู้ว่ารายได้ไม่สูญเสียไป ที่สำคัญองค์กรภาครัฐ ปรับทัศนคติให้ความรู้เกษตรกรมากกว่านี้ รวมถึงเรื่องตลาดแนวทางช่วยเหลือ ไปปลูกพืชอื่น ต้องมีตลาดชัดเจนไว้รองรับ ตนฝากไว้ว่าสุดท้ายเรื่องข้าว จากนี้ไปตลาดข้าวไม่ใช่ขายข้าวเปลือกข้าวสาร เน้นนวตกรรมใหม่ ตลาดสินค้าแปรรูปข้าวให้มากขึ้นด้วย
ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ กล่าวว่าพระราชดำรัสในหลวง ร.9 ปี 2547 ทรงตรัสว่า"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาทำนาบ้าง ลำบากมิใช่น้อย ต้องอาศัยข้าวพันธุ์ดี ได้ผลผลิตเป็นล่ำเป็นสัน เวลาว่างทำนาปลูกพืชอื่นให้มีรายได้ และไว้เป็นปุ๋ยด้วย ก็มีประโยชน์มาก" ซึ่ง นี่คือศาสตร์พระราชา ที่ตนน้อมนำไปทำให้เกิดผลจริงปี 2560 ตั้งเป้าหมายเกษตรทฤษฎีใหม่ 7 หมื่นแห่ง เชื่อว่าต่อไปจะเพิ่มเป็น 7 ล้านรายเพราะเกษตรกรได้รู้ว่าราคาพืชเศรษฐกิจจะผันผวนแค่ไหนก็อยู่ได้
"ตอนนี้มียุทธศาตร์ข้าวครบวงจร เพื่อลดปริมาณข้าวล้นตลาดแก้ปัญหาราคาตก ในพื้นที่ปลูกข้าว 54 ล้านไร่กว่า ไม่เหมาะสมปลูกเลย 5.7 แสนไร่ ไปทำอย่างอื่น และลดข้าวรอบสองลง ปรับไปปลูกพืชอื่น ข้าวโพด 2 ล้านไร่ ปลูกพืชฤดูแล้ง 5 แสนไร่ เหลือ 6 ล้านไร่ จากกว่า 8 ล้านไร่ ส่วนรอบสาม งดปลูกเลย แต่ขณะนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะชาวนาลุ่มเจ้าพระยา ไม่เข้าโครงการเห็นว่าปีนี้มีน้ำพอทำนา ผมก็ให้เจ้าหน้าที่พยายามสร้างความเข้าใจต่อไปเพราะราคาอาจตกต่ำอีก ที่ผ่านมาไปสำรวจได้เกษตรกรสมัครใจ 2 ล้านกว่าไร่ พอมีมาตรการพยุงราคาข้าว จำนำยุ้งฉาง ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งกลับไปปลูกข้าวเหมือนเดิม ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนไม่ปลูกข้าวเข้าร่วมเพียง 4 แสนกว่าราย ที่มีปัญหาปรับลดทำนารอบสอง 2 ล้านไร่ ยังมีปัญหามากชาวนาไม่เข้าร่วมโครงการ "รมว.เกษตรฯกล่าว
ขณะที่นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเกษตรกรขณะนี้แยกเป็น 5 กลุ่ม คือ ยังปลูกข้าวอยู่และมีอายุมาก ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ รวมแปลงใหญ่มีพื้นที่ทำนามากขึ้น ส่วนหนึ่งไปปลูกข้าวมีมูลค่าสูงขึ้น ทำนาน้ำฝน มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอย่างมโหฬาร และสุดท้ายไม่ปรับตัวเพราะไม่มีความรู้ ซึ่งปัญหาอุปสรรคการปฎิรูปภาคเกษตร ยังมีพื้นที่ชลประทาน ออกแบบสำหรับทำนาอย่างเดียว กฎหมายเช่าที่นา ไม่สมดุลให้น้ำหนักเจ้าของที่มากกว่า โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินไม่มี ดอกเบี้ยสูงมากเกษตรกรกู้ซื้อที่ดิน
นายนิพนธ์ กล่าวรวมถึงข้าวในสต็อกจากโครงการจำนำมีจำนวนมากและเป็นข้าวคุณภาพไม่ดี จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งระบายข้าวอย่างเสม่ำเสมอเป็นการขายปกติ ไม่ต้องประกาศกำหนดช่วงเวลาใด เพราะปัญหาใหญ่คือภาระดอกเบี้ย ค่าดูแลรักษาแต่ละเดือนเป็นพันๆล้านบาท ยังเป็นตัวกดราคาข้าวใหม่ทุกฤดู ตนอยากจัดการระบายให้หมดในรัฐบาลนี้ ถ้ามีข้าวเก่าเหลือจะมีนักการเมืองมาหากินได้
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 14 ธ.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.