โครงการการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (Better Rice Initiative Asia-BRIA) หรือ "เบรีย" เป็นโครงการที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2560 โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ในนามของกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในการผลิตข้าว การเชื่อมโยงตลาด และการปรับปรุงโภชนาการในภาคอาหาร ซึ่งมี 4 ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
สำหรับประเทศไทย โครงการเบรียดำเนินการโดยความร่วมมือกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และไบเออร์ ครอปซายน์ โดยล่าสุดโครงการเบรียลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการ และมอบเกียรติบัตรให้แก่ชาวนาในพื้นที่ที่ผ่านการอบรม
"มนตรี พรหมลักษณ์" ผู้ประสานงานโครงการการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า โครงการเบรียในประเทศไทยปีนี้จัดทำการนำร่องการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (SRP - Sustainable Rice Production) โดยนำร่องที่ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี จำนวน 2 ศูนย์ข้าวชุมชน ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลกลาง ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบัวงาม
"เป็นการยกมาตรฐานการผลิตข้าวจากเดิม GAP ไปสู่ SRP ที่มุ่งเน้นการรักษาผลผลิตข้าวสำหรับเกษตรกรรายย่อย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูกข้าว และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยมีข้อกำหนด 46 ข้อครอบคลุมประสิทธิภาพด้านการผลิต, ความปลอดภัยด้านอาหาร, สุขภาพอนามัย, สิทธิแรงงาน และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการจัดฝึกอบรมสมาชิกที่เป็นชาวนาไป 77 ราย ครอบคลุมพื้นที่นา 959 ไร่ และเมื่อ 1-4 พ.ย. ที่ผ่านมา มีชาวนาผ่านการประเมิน (Organic Certification International Standard - Onecert) ไปแล้ว 75-80%"
จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงการเล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานข้าวหอมมะลิของ จ.อุบลราชธานี จนได้รวบรวมข้อมูล และยกร่างตำนานข้าวหอมมะลิ จ.อุบลราชธานีขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในต้นปี 2560
"ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล" ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กล่าวว่า โครงการการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียช่วยยกระดับการประกอบอาชีพของชาวนา เพื่อให้ชาวนาผลิตข้าวที่มีคุณภาพ เกรดพรีเมี่ยม และเป็นยอมรับทั่วโลก
"ในปีนี้โครงการดำเนินมาเป็นปีที่ 3 และก้าวสู่ปีที่ 4 ที่ผ่านมาเราสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรอย่างแท้จริง จนทำให้เกิดผลรูปธรรม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านคน, เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม การดำเนินโครงการเบรียใน จ.อุบลราชธานี นอกเหนือจากการให้องค์ความรู้ เรายังช่วยสร้างการเชื่อมโยงตลาดให้กับชาวนา โดยข้าวของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการนำไปจำหน่ายที่โรงสีข้าวอุบลธัญกิจ จ.อุบลราชธานี และโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล โดยจะส่งออกข้าวไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทยินดีให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป ตรงนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของเอ็นจีโอ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อผลิตอาหารของโลก ภายใต้การทำงานแบบประชารัฐ"
"ไซม่อน ทอร์สเทน วีบูซ" ผู้จัดการสำนักงานประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไบเออร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่าไบเออร์ครอปซายน์เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเบรียตั้งแต่ต้น
"โดยในปี 2559 เราได้มีส่วนร่วมในการ ฝึกอบรมชาวนาในการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ในหัวข้อการจัดการวัชพืช การจัดการศัตรูพืช รวมถึงการอบรมการใช้สารอย่างปลอดภัย, การจัดฝึกอบรมชาวนา 180 ราย 2 ครั้งที่อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และศูนย์เมล็ดพันธุ์ (มกราคม-กุมภาพันธ์), การจัดฝึกอบรม Smart Farmer รวม 750 ราย"
"จัดที่ศูนย์ข้าวชุมชน 2 ครั้งที่อุบลราชธานี และจัดฝึกอบรม 1 ครั้งที่สุรินทร์, ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ โดยให้การสนับสนุนการฝึกอบรมของผู้นำชาวนาสู่ชาวนา 12 ครั้ง โดยมีชาวนาเข้าฝึกอบรมทั้งหมดจำนวน 7,100 คน จัดฝึกอบรมจังหวัดละ 3 ครั้งที่อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และร้อยเอ็ด"
จึงนับเป็นโครงการที่ช่วยสร้างความสมดุลทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ก่อเกิดประโยชน์ให้ชาวนาและสังคมโลกอย่างแท้จริง
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.