"อภิศักดิ์" ระบุการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจต้องเลื่อนไปปี 2561 เหตุร่างกฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทรวงการคลังและรัฐบาลกำลังผลักดันให้มีผลบังคับใช้ อาจมีความล่าช้าจากกำหนดเดิมที่ต้องการเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนม.ค.2560 โดยขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และ เมื่อกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายแล้ว ก็จะต้องนำเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ที่ล่าช้าออกไป แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการเข้าจัดเก็บภาษีที่ดิน เพราะกฎหมายเดิมก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ โดยหากจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ปี 2561 ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะกฎหมายฉบับนี้ มีการพิจารณามาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ โดยบางรัฐบาลกฎหมายก็ตกตั้งแต่ชั้นคณะรัฐมนตรี(ครม.) บางรัฐบาลเมื่อผ่านคณะรัฐมนตรีก็ไม่ผ่านในชั้นสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก มีการยุบสภาฯบ้าง ก็ถือว่า เป็นกฎหมายอาถรรพ์
"กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เราตั้งใจจะให้แล้วเสร็จในเดือนมกราคมปี 2560 แต่ขณะนี้ เรื่องยังอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะยังมีบางข้อความหรือบางหลักการไม่ตรงกัน แต่หากกฎหมายไม่ทันใช้ปี 2560 ก็ไม่เป็นไร ก็ใช้ในปี 2561 ก็ยังดี กฎหมายจะเริ่มเมื่อไหร่ ไม่มีปัญหา แต่ขอให้ได้เริ่มจริงๆ เพราะกฎหมายฉบับนี้ ใช้ระยะเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว และ ก็เป็นแบบนี้ตลอด"
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการคลังยังมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของรายละเอียด อาทิ เราเขียนในกฎหมายที่แยกหัวข้อที่ดินในการจัดเก็บภาษี โดยแยกที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ออกจากที่อยู่อาศัยปกติ ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ไม่ควรแยก แต่ให้ไปรวมในที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และให้ไปเก็บภาษีกรณีที่ไม่นำที่ดินไปใช้ประโยชน์
ขณะที่กระทรวงการคลังชี้แจงและยืนหลักการที่ว่า เราต้องการแยกที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ออกจากที่ดินทั่วไป เพราะเรามีจุดประสงค์ต่างกัน โดยเราต้องการให้ที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์นั้น นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เราไม่ได้บอกว่า เราต้องการเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า แต่เราต้องการให้นำที่ดินว่างเปล่านั้น มาใช้ประโยชน์
"เราบอกจุดประสงค์ไม่เหมือน เราต้องการให้อะไรที่ไม่ใช้ประโยชน์ ให้นำมาใช้ประโยชน์ เราไม่ได้บอกว่า เราอยากเก็บภาษีที่เปล่า แต่เราบอกว่า ที่เปล่าทิ้งไว้ เป็นทรัพยากรของประเทศ ควรนำมาใช้ประโยชน์ ไม่ได้เจตนาเก็บภาษีเยอะ แต่อยากให้เขานำมาใช้ อย่างไรก็ตาม ผลสุดท้ายก็เหมือนกัน ซึ่งก็คือ การเก็บภาษี แต่เราอยากให้แยกให้ชัดเจน"
สำหรับแนวคิดของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ คือ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยที่ออกแบบกฎหมายให้ส่งผลกระทบที่น้อยมากต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดย 99 % ของที่อยู่อาศัยหลังแรก และที่ดินเพื่อการเกษตร ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทลงมาได้รับการยกเว้นภาษี
ขณะที่ อาคารและที่ดินเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ที่ต้องจ่ายภาษี ตั้งแต่บาทแรกของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะจ่ายภาระภาษีในระดับเดิม ของระบบกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบภาระภาษีใหม่ สำหรับที่ดินและอาคารเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ที่กำหนดจัดเก็บในอัตรา 0.3 % กับอัตราภาษีโรงเรือนและที่ดินในปัจจุบันที่เก็บในอัตรา 12.5% ของค่าเช่ารายปีแล้ว จะมีภาระภาษีใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ ตามร่างกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดอัตราภาษี สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ 4 ประเภท คือ 1.ที่ดินเกษตรกรรม อัตราตามเพดานที่ 0.2 % 2.ที่ดินและที่อยู่อาศัยหลังแรก เพดาน 0.5 % แต่ทั้งเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย จะกำหนดอัตราภาษีจริงเท่ากัน โดยยกเว้นภาษีให้สำหรับมูลค่าบ้านและที่ดิน ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาทลงมา และบ้านหรือที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท ถึง 100 ล้านบาท เสียในอัตรา 0.05 % , มากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียในอัตรา 0.10 %
ส่วนบ้านหลังที่สอง เก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก โดยเก็บในอัตราขั้นบันใด คือ บ้านที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท เสียในอัตรา 0.03 % จนถึงราคา มากกว่า 100 ล้านบาท เสียในอัตรา 0.30 % 3.ที่ดินและอาคารเพื่อพาณิชยกรรม อัตราตามเพดานที่ 2 % แต่เก็บจริง กำหนดให้มีอัตราตามขั้นบันใด ตั้งแต่ 0.3 % ถึง 1.5 % และ4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานอยู่ที่ 5 % และเก็บในอัตราขั้นบันได ตั้งแต่ 1 -3%
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.