สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมระดมความเห็นเรื่อง "New Rice Supply Chain กับทางออกอุตสาหกรรมข้าวไทย"ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล โดย รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผอ.สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า มีขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นทางเลือกต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างยั่งยืน ที่ใช้องค์ความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ปัญหา
โดยปัญหาราคาข้าวไทยในปี 2559 นับเป็นสภาวะการตกต่ำของราคาข้าวในระดับไร่นาและการส่งออก เนื่องมาจากอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก ร่วมกับปริมาณข้าวคงคลังจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นผลพวงจากการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา อีกทั้ง ประเด็นปัญหามาตรฐานข้าวที่มีความชื้นสูง ส่งผลซ้ำเติมให้ราคาข้าวไทยตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้สมาคมโรงสีข้าวที่ตกเป็นจำเลยของสังคมขอถอนตัวจากทุกคณะกรรมการของภาครัฐในวันที่ 3 พฤศิกายน 2559 อีกด้านหนึ่งของสังคมก็เกิดปรากฎการณ์ "การรวมใจของคนไทย" ช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องมีใครร้องขอให้ช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นพัฒนาการของการมีส่วนร่วมในการหยิบยื่นความช่วยเหลือตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการให้ความช่วยเหลือโดยตรงไปที่ชาวนาไทย
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ และผู้ประสานงาน งานวิจัยเชิงนโยบายเกษตรและเสริมสร้างเครือข่ายงานวิจัยเชิงนโยบาย สกว. กล่าวถึงสถานการณ์ข้าวไทยภายใต้ความท้าทายใหม่ว่า ปัญหาสำคัญที่ชาวนาไทยกำลังประสบคือ การขาดความรู้การจัดการไร่นา ขาดข้อความรู้ในการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ไม่เข้าใจระบบการผลิตปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน ได้คุณภาพ และเข้าไม่ถึงกลไกตลาด จึงควรหาแนวทางในการสร้างความจำเพาะในคุณค่าของสินค้า ใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หาแนวทางผูกโยงเครือข่ายสร้างตลาดจำเพาะ มีกลไกการรับรองคุณค่า และมีช่องทางในการกระจายสินค้าที่เป็นธรรม
ด้าน ปราโมทย์ วานิชชานนท์ อดีตนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวในฐานะผู้ที่คร่ำหวอดอยู่แวดวงโรงสีข้าวมาหลายปีว่า โรงสีสามารถรวยได้โดยไม่ต้องโกง แต่เมื่อมีความต้องการมาก จึงมีการเอาเปรียบเกิดขึ้นและพัฒนาไปสู่การโกง ทั้งจากการชั่งน้ำหนักไม่ตามจริง การวัดค่าความชื้นที่ไม่ตรงมา หน้าที่ของรัฐคือสนับสนุนโรงสี พ่อค้าที่ดีมีคุณธรรม ให้กำกับกลไกตลาดให้ได้ ประกอบกับควรมีการปรับตัวบทกฎหมายที่มีความเคร่งครัดมากขึ้น
ทั้งนี้ ทีมวิจัยจากสถาบันคลังสมองของชาติเล็งเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน หากมีการยกระดับการร่วมบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยน "น้ำใจคนไทย" ที่ช่วยกันซื้อข้าวจากชาวนา" มาเป็น "การพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน" ร่วมกันรับผิดชอบและพัฒนาให้เป็น "กลไกห่วงโซ่อุปทานเพื่อสังคมใหม่เพื่อความยั่งยืน" และดำเนินกลไกใหม่นี้โดยน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันมาจัดทำเป็นมาตรการป้องกันความเสี่ยงและร่วมคิดแก้ปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่กระทรวงหลักที่รับผิดชอบ ก็ช่วยกันพัฒนานโยบายที่นำการมีส่วนร่วมของพลังสังคมมาผูกผสานเป็นนโยบายและกลไกที่สามารถบูรณาการงานข้ามกระทรวง ข้ามเครือข่าย ร่วมกันดูแลอย่างมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ และอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโช่อุปทาน อาทิ ยกระดับคุณภาพและปริมาณผลิตข้าวต่อไร่ การพัฒนาการรวมกลุ่มและพึ่งตนเอง การพัฒนามาตรฐานสินค้าข้าว การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาระบบตลาดเพื่อสังคม แรงช่วยเหลือจากพันธกิจองค์กรรัฐและเอกชนต่างๆ ร่วมกับระบบการเงิน - การลงทุนเพื่อสังคม นวัตกรรมสังคม จะเป็นตัวอย่างการเปลี่ยน "วิกฤต" เป็น "โอกาส" ของการผนึกพลังประชารัฐได้
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 16 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.