รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ เปิดเผยในงานเสวนา "ปลดล็อกแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างยั่งยืน" ซึ่งจัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ต่อมาถูกดึงไปเป็นพืชการเมือง ทำให้ดึงกลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจอีกครั้งค่อนข้างยาก ประเทศผู้ผลิตที่สำคัญคือ ไทยและเวียดนาม
อีกกลุ่มคือ อินเดียและปากีสถาน 2 กลุ่มนี้มีข้าวส่วนเกินจากที่บริโภคภายในประเทศ 25 ล้านตันข้าวสารต่อปีที่จะต้องส่งออก การแข่งขันจึงรุนแรงมากขึ้น เวียดนามกับอินเดียสามารถผลิตข้าวได้ในราคาต้นทุนต่ำ ส่วนประเทศที่ขาดแคลนจะอยู่ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ประมาณ 7 ล้านตันข้าวสารต่อปี
ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดของอินเดียที่บริโภคข้าวบาสมาติ ตลาดเอเชียมีฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่เวียดนามครองตลาด ช่วงที่ผ่านมา ข้าว 5%, 15% มีการแข่งขันที่ดุเดือดมาก ข้าวหอมมะลิของไทยที่เป็นข้าวพรีเมี่ยม ก็ถูกเวียดนามกับกัมพูชาตีตลาด ตลาดนี้มีประมาณ 3.5 ล้านตันข้าวสาร ไทยส่งออก 2 ล้านตัน เวียดนาม 1.2 ล้านตัน และกัมพูชา 2-3 แสนตัน เวียดนามส่งออกข้าวหอมมากเพราะบริโภคภายในน้อย ไทยจึงถูกแข่งขันจากผู้ผลิตต้นทุนต่ำ ทำให้สามารถขายข้าวได้ต่ำกว่าไทยตันละ 30-40 เหรียญสหรัฐ ทั้งเวียดนามและอินเดีย ซึ่งข้าวเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ง่าย ทำให้ผู้ซื้อวิ่งไปหา ยิ่งไทยทำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงเมื่อปี 2554 การส่งออกจึงลำบาก ผู้ส่งออกจึงต้องมาลดราคารับซื้อลง การจะแย่งตลาดกลับคืนมาก็ลำบาก
ข้าวหอมมะลิที่เป็นข้าวพรีเมี่ยม เมื่อก่อนไทยส่งออกในระดับตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้เวียดนามตีตลาดขายในราคาต่ำกว่าถึง 200-300 เหรียญต่อตัน แม้ความหอมของข้าวเวียดนามจะน้อยกว่าไทย แต่ความบริสุทธิ์ของข้าวหอมไทยก็ลดลงเช่นกัน ต้นปีนี้โรงสีตุนข้าวหอมตันละ 12,000 บาท ตอนนี้เหลือ 9,000 บาทขาดทุนกันมาก
"เราผลิตข้าวปีหนึ่ง 32 ล้านตัน สีเป็นข้าวสารเหลือ 20 กว่าล้านตัน บริโภคภายใน 10 ล้านตัน ที่เหลือต้องส่งออก ซึ่งมีแรงกดดันสูง สุดท้ายรัฐต้องงัดโครงการรับจำนำ ประกันราคามาใช้อยู่ซ้ำซาก ไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิตที่ไทยสูงถึงตันละ 7,452 บาท ของเวียดนาม 5,615 บาทหรือของเมียนมา 4,353 บาท ชาวนาอยู่ไม่ได้ ความกดดันการเมืองตามมา
ที่ผ่านมาเราสนับสนุนขยายการผลิตอย่างโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงบางปีสูงถึง 38 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ตลาดส่งออกมีจำกัด ฉะนั้นไทยต้องปลดล็อก หันไปทำเกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักใช้เอง หรือไปปลูกพืชอื่น โดยรัฐต้องสนับสนุนเงินทุนหรือสินเชื่อระดับหนึ่งเพื่อลดการผลิตข้าวลง"
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 พ.ย. 2559