ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง (จำนำยุ้งฉาง) ตันละ 8,730 บาท ร่วมกับมาตรการอื่น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือตันละ 11,525 บาท
เรื่องนี้ วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือชาวนา เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าฤดูกาล ผลผลิตออกมามากกว่าความต้องการเสมอ แต่มาตรการรับ "จำนำยุ้งฉาง" ที่ใช้มาตั้งแต่อดีตไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้
สาเหตุที่ เลิกใช้เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง 1.ให้ใครเป็นคนตรวจสอบคุณภาพ และความชื้นข้าว หรือที่เรียกว่าเซอร์เวเยอร์เพราะการจำนำจะให้ราคาตามคุณภาพและความชื้น ใครจะเป็นคนตรวจสอบยุ้งฉางครัวเรือนของชาวบ้าน 2.การเก็บรักษาข้าวในยุ้งฉางที่ให้ชาวนาจัดเก็บกันเอง ในอดีตก็เกิดปัญหาฟ้องร้องกัน และ 3.ช่วยเหลือเกษตรกรได้ไม่หมด เพราะข้าวที่ออกมาเกินกว่าที่รัฐบาลจะรับจำนำได้หมด
วัฒนา กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลในการแก้ปัญหา แต่มาตรการที่ทำกลับมามัดคอรัฐบาลเอง เมื่อไปดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายก รัฐมนตรี เรื่องจำนำข้าวแล้ว แต่วิธีการแก้ปัญหาวิธีเดียวที่จะทำได้ก็คือการจำนาข้าว ดังนั้นจึงเกิดความกระอักกระอ่วน และเลี่ยงบาลีนิดหน่อยมาเป็นการจำนายุ้งฉาง ซึ่งมีอุปสรรคปัญหาเยอะ
"ที่ผ่านมาปัญหาอุปสรรคเยอะแยะมหาศาล เขาถึงให้ภาพใหญ่จำนำข้าวเก็บในไซโล มีคนตรวจรับ หากหาย ก็มีแบงก์การันตีรับประกัน เมื่อก่อน ข้าวหายก็ไปฟ้องชาวนา พูดไปก็บอกว่าจำนำอย่างเดียวไม่ได้ผิดกฎหมาย คนเป็นกฯ พูดได้อย่างไร แต่ก็ อยากเห็นฝีมือรัฐบาล ที่อวดอ้างตนเป็นคนดีมีความสามารถก็ขอให้กำลังใจ" วัฒนา กล่าว
วัฒนา กล่าวอีกว่า เรื่องที่ออกมา กล่าวหา นักการเมืองรวมหัวกับโรงสีกดราคานั้น ถ้าเป็นจริงก็ถือว่าเป็นการทำความผิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เมื่อรู้อยู่แล้วทำไมไม่จับ อำนาจในมือก็มี หัดโทษตัวเองให้เป็น อย่าโทษแต่คนอื่น อะไรที่ช่วยเกษตรกรได้ก็ดีทั้งนั้น แต่ถามตนก็ต้องบอกแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนที่อ้างว่านักการเมือง การกระทำผิด พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า มีโทษอาญาจำคุก 7 ปี กฯ รู้แล้วไม่จับก็ละเว้น หรือไม่รู้แล้วพูดก็ถือว่าพูดพล่อยๆ
ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า มาตรการนี้ถือเป็นโครงการปกติสำหรับการรับจำนำสินค้าเกษตรที่ใช้มาตั้งแต่ในอดีต เพื่อดูดสภาพคล่องโดยตั้งเป้าไว้ 2 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 20-30% ที่จะช่วยให้ราคาข้าวขยับ ดีขึ้น แต่ลำพังเพียงแค่มาตรการนี้ยังไม่เพียงพอ
"ผมอยากให้รัฐบาลปรับกรอบ วิธีคิดจากที่ผ่านมา ซึ่งเคยช่วยให้ชาวนาขายข้าวเปลือกอย่างเดียวเปลี่ยนมา เป็นขายข้าวสารแทน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะวงจรข้าว คนขายข้าวเปลือกจน แต่คนขายข้าวสารรวย ถ้าเราเปลี่ยนให้ชาวนามาขายข้าวสารได้จะทำให้รายได้ดีขึ้น"
ที่สำคัญคนไทยกินข้าวทุกคน ถ้าใช้ช่องทาง "ประชารัฐ" ที่ตั้งขึ้นทุกจังหวัดเป็นแกนกลางรับข้าวจากชาวนาที่รวมกลุ่มกัน หรือโรงสีชุมชน หรือโรงสีสหกรณ์ ไปขายให้ส่วนราชการทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน ราชทัณฑ์ ค่ายทหาร บริษัทห้างร้าน ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แถมยังจะทำให้ข้าวหายไปจากระบบได้ส่วนหนึ่งซึ่งจะช่วยเสริมกับมาตรการจำนำยุ้งฉางทำให้เกิดอิมแพกต์แรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการจำนำยุ้งฉางนี้แตกต่างจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งแม้จะชื่อว่ารับจำนำข้าวทุกเมล็ดและไม่ใช่การจำนำข้าวแต่เป็นการขาย ขาดให้รัฐบาล รัฐกลายเป็นคนขายข้าวเอง เมื่อรับมาแล้วก็นำมาสี เสร็จแล้วก็นำมาขาย
แต่โครงการจำนำยุ้งฉางไม่ใช่การขายขาด ข้าวยังเป็นของชาวนา เป็นมาตรการปกติ ที่ทำมา 30-40 ปีที่ผ่านมา คือทำในช่วงที่ข้าวออกมาเยอะๆ ก็ต้องหาวิธีเก็บข้าวเหล่านี้ไว้ก่อน เพื่อรอราคาข้าวสูงก็นำออกมาขาย ทำให้ปริมาณข้าวในตลาดลดน้อยลงช่วยให้ราคาข้าวสูงขึ้นด้วย
"รอบนี้รัฐบาลยืดเวลาจำนำยุ้งฉางเป็น 6 เดือน จากปกติประมาณ 4 เดือน ก็จะช่วยชาวนาได้มากขึ้นเนื่องจากข้าวเป็นสินค้าฤดูกาล ช่วงที่ออกมาพร้อมๆ กัน รัฐก็ต้องดูดสภาพคล่อง ออกจากระบบ ผ่านไปสักพักข้าวน้อยลง ประมาณ เดือน ม.ค.-ก.พ. หากราคาสูงขึ้น ก็ไถ่ถอนออกไปขาย แนวคิดนี้ไม่ได้สร้างความเสียหาย ไม่เกิดช่องรั่วไหล หรือการทุจริตเหมือนจำนำข้าว"
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการออกมาตรการ "จำนำยุ้งฉาง" ตอนนี้ ทั้งที่ผลผลิตข้าวจะออกในช่วงกลาง พ.ย.เป็นต้นไป อาจเกิดช่องว่างให้โรงสีซึ่งมีข้าวค้างอยู่แล้ว สวมสิทธิชาวนานาข้าวที่มีไปเข้าโครงการจำนำยุ้งฉางได้นั้น ทางด้านหมอวรงค์อธิบายว่า แนวคิดนี้ค่อนข้างมั่ว อีกทั้ง การออกมาตรการในช่วงนี้ถือว่าถูกจังหวะที่ถูกต้องแล้ว
"ข้าวยังไม่ออกยิ่งดีใหญ่ หากออกมาตรการนี้ในช่วงที่ข้าวออกไปแล้วก็จะไม่ทันการณ์ เพราะชาวนาก็จะขายข้าวออกไปหมดแล้ว ไม่ทันได้เอาเข้ามาจำนายุ้งฉาง การออกมาตรการตั้งแต่ช่วงนี้จะทำให้ชาวนาได้เห็นทิศทางว่าราคาตลาดต่ำไปหรือไม่ หากต่ำไปก็เอาเข้าโครงการแล้วรอเวลาที่ราคาข้าวสูงขึ้นก็ค่อยออกมาขาย หากรอให้ข้าวออกแล้วออกมาตรการจะทำให้โรงสีได้ประโยชน์เพราะข้าวส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่โรงสีแล้ว"
ส่วนการขายข้าวออนไลน์นั้น เจตนาเราต้องการให้ขายข้าวสาร ซึ่งหากมีศักยภาพขายออนไลน์ได้ เราต้องเชียร์ เพราะราคาดีกว่าขายข้าวเปลือก ประชารัฐต้องเป็นแกนกลางรับออร์เดอร์ ที่สำคัญข้าวที่ขายตรงจากชาวนาถือว่าดีกว่าข้าวที่ขึ้นตามห้าง เพราะชาวนาเก็บเป็นข้าวเปลือกเมื่อจะขายก็สีเป็นข้าวสารไม่มีการรมยา แต่โรงสีเมื่อสีข้าวเสร็จเก็บเป็นข้าวสารต้องรมยานี้ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 พ.ย. 2559
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.