รัฐฯวอนอย่าเชื่อคำบิดเบือน มีชัยยาแรงซื้อเก้าอี้ประหาร
ครม.ใจป้ำทุ่ม 2.2 หมื่นล้าน ช่วยชาวนา รับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ 13,000 บาทต่อตัน เริ่ม 28 ก.พ.60 ขณะที่ "นายกฯ" หวังชาวนาพอใจ วอนอย่าเชื่อคำบิดเบือนโลกโซเชียล สั่ง ก.เกษตร-พาณิชย์-คสช. ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงสี-โกดังข้าว ห้ามเอาเปรียบชาวนา ย้ำทูลเกล้าฯ รธน. 9 พ.ย. ยันได้ใช้ รธน.ใหม่แน่ ด้าน "มีชัย" เผยแก้ไขคำปรารภเสร็จแล้ว จ่อชง ครม.แจงร่างกฎหมายลูกพรรคการเมืองเข้มข้น หวังขจัดคนไม่ดี จัดหนักซื้อขายเก้าอี้ รมต.โทษแรงถึงประหารชีวิตทางการเมือง
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. โดยก่อนการประชุม ครม. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะรายงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ สำหรับวาระ ครม.คาดว่าคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. มีมติเห็นชอบเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือคิดเป็น 1,295 บาทต่อตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทั้งกรณีเกษตรกรปลูกข้าวเข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีวงเงินรวม 8,600 ล้านบาท โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ
ไฟเขียวมติ นบข.ช่วยชาวนา
ต่อมาภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยมีการประชุม นบข.เป็นการหาข้อมูลชั้นต้น โดยมีมติออกมาแต่ยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุป วันนี้ช่วงเช้าจึงได้มีการประชุมอีกครั้งเป็นการหาข้อยุติ พร้อมมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงพื้นที่เพื่อพบเกษตรกรหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยสรุปมีมติมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ประกอบด้วยโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559-2560 ชาวนาจะได้รับเงินทั้งสิ้น 13,000 บาทต่อตัน โดยแยกเป็นราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมายโดยนำราคามาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,700-12,000 บาท จะได้ราคาเฉลี่ย 11,000 บาทต่อตัน ดังนั้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำตามความเห็นชอบของ ครม. จะแบ่งเป็นรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคา 9,500 บาท การช่วยเหลือเพิ่มเติมค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพให้อีก 2,000 บาทต่อตัน ค่าขึ้นยุ้งฉางเก็บรักษา 1,500 บาทต่อตัน รวมทั้งสิ้นเป็น 13,000 บาทต่อตัน โดยหาก ธ.ก.ส.รับช่วยเหลือเต็มที่จะขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ราคาดั่งกล่าวเป็นราคาที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
หวังเกษตรกรพอใจหยุดเชื่อคำบิดเบือน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อยุติแล้ว หวังว่าชาวเกษตรกรคงพอใจในระดับหนึ่ง พร้อมทั้งให้เห็นใจรัฐบาลในช่วงนี้เพราะมีความยากลำบากในหลายอย่าง โดยสิ่งสำคัญในขณะนี้ทุกคนจะต้องช่วยกันคิดว่าจะเดินหน้าทำงานด้านการเกษตรกันอย่างไร หากเรายังทำกันแบบเดิมก็คงเกิดปัญหาเหมือนเดิม ต้องเรียนรู้ด้วยกันและหาวิธีปลูกข้าวให้น้อยไร่แต่ได้ผลผลิตมาก รวมทั้งต้องมองตลาดโลกด้วย อย่ามองแต่ภายในประเทศเท่านั้น ถ้ารวมกลุ่มได้รัฐบาลก็สนับสนุนเป็นรายกลุ่มได้ ให้หาโรงสีในส่วนที่รวมกลุ่มกันได้ เพื่อจะได้ไม่ออกไปหาโรงสีข้างนอกเพราะราคาอาจจะสูงขึ้น โดยชาวบ้านจะต้องสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเอง ปลูกเอง ผลิตเอง แปรรูป ขายเอง โรงสีก็จะต้องปรับตัวจะทำยังไงให้เกิดความสุจริตให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด และเกษตรกรต้องมีเครื่องมือในการตรวจวัดของตัวเองเปรียบเทียบกับโรงสีบ้างเพื่อเป็นการเตรียมตัวเอง ตนได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และ คสช. ลงพื้นที่สำรวจโรงสีทุกโรงสี เพื่อดูว่าในส่วนที่ทำมาทั้งหมดนั้นมีความผิดปกติหรือมีสิ่งใดมาแทรกซ้อนบ้าง หากไม่มีก็แล้วไป ในอีกส่วนจะต้องไปดูในเรื่องของคลังข้าวบางโรงสีอาจจะมีการกักเก็บข้าวไว้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการดูแลคลังข้าวดีหรือไม่ ทั้งนี้ตนยังเป็นห่วงเรื่องความต้องการข้าวภายนอกลดลงเพราะแต่ละประเทศมีการสำรองข้าวไว้เยอะ อีกทั้งยังมีการลงทุนปลูกข้าวในพื้นที่ที่มีการลงทุนการผลิตต่ำ ตรงข้ามกับประเทศเราที่ยังมีการลงทุนสูงและใช้ปริมาณน้ำเยอะ ต้องพึ่งพานวัตกรรมต่างๆ ด้วย สร้างความเข้มแข็ง ซึ่งขึ้นอยู่ที่ผู้นำชุมชนด้วย อย่าไปหลงเชื่อคำบิดเบือนในโซเชียล บางอย่างมันไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลทำ อย่าคิดว่าจะบังคับคนไทยได้หมด
ทุ่ม 2.2 หมื่นล้านอุ้มชาวนา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (นบข.) นัดพิเศษ ที่มีการประชุมก่อนเริ่มการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่สำรวจราคาข้าวหอมมะลิตามท้องตลาด พบว่ามีราคาอยู่ระหว่าง 9,700-12,000 บาท นบข. และคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กำหนดราคากลางข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 11,000 บาท และโดยตามหลักเกณฑ์เราจะจำนำที่ 90% กำหนดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำอยู่ที่ราคาตันละ 9,500 บาท โดยจะมีเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ทั้งค่าเก็บเกี่ยว และค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท ส่วนเกษตรกรที่จะเข้าโครงการจำนำยุ้งฉาง จะมีค่าขึ้นยุ้งฉาง และค่ารักษาอีก 1,500 บาท รวมทั้งสิ้นเกษตรกรรับเงินทั้งหมด 13,000 บาท ส่วนเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉาง ที่ไม่สามารถเข้าโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขาย ก็สามารถนำข้าวไปขายในตลาดได้ทันที และจะได้รับเงินสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยว และค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาท จาก ธ.ก.ส.เช่นกัน โดยการโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเริ่มทันที ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท และหากเดือนถัดไปราคาข้าวมีการปรับตัว ก็อาจมีการปรับราคาอีกได้ คงการมีระยะเวลา 5 เดือน นับตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ กระทรวงพาณิชย์จะไปกำกับดูแลโรงสีข้าว ถึงการตรวจวัดความชื้น และน้ำหนักข้าว เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร และจะเดินสายหาตลาดใหม่ๆ ที่ไทยเคยสูญเสียไป อย่างประเทศอิหร่าน ที่เลิกซื้อข้าวจากประเทศไทยจากโครงการรับจำนำทุกเมล็ดที่ทำให้คุณภาพข้าวสูญเสียไป
ชาวนาเตรียมหารือราคาข้าว
นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวว่า วันที่ 2 ต.ค.นี้ กลุ่มชาวนา อาทิ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาพันธ์สมาคมชาวนาไทย จะเดินทางมาหารือถึงผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นขบ.) ซึ่งโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะรับจำนำยุ้งฉางเกษตรกรในราคาตันละ 8,730 บาท บวกกับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพอีกตันละ 1,295 บาท และค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท ทำให้เกษตรกรจะได้รับเงินจากโครงการนี้ตันละ 11,525 บาท ซึ่งกลุ่มชาวนา ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ เฉพาะราคาข้าวที่ตันละ 11,000 บาท เพื่อช่วยพยุงราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำลงไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ยังมีประเด็นการรับจำนำยุ้งฉาง ที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง ที่ปลูกข้าวหอมจังหวัด แต่ ธ.ก.ส. กลับไม่รับจำนำยุ้งฉาง โดยให้เหตุผลว่า เป็นข้าวคนละสายพันธ์กับข้าวหอมมะลิ จึงต้องมาหารือเพื่อสรุปแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป
ปชป.แนะเรียกแกนนำถกราคาข้าว
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นเรื่องการบิดเบือนข้อมูล เพื่อหลบหลีกกรณีการทุจริต ซึ่งกำลังพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป้าหมายคือการปลุกระดมให้พี่น้องชาวนาเข้าใจผิดว่า รัฐบาลนี้ไม่ดูแล แต่โดยเนื้อแท้มีการสมคบกันระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์ จากการโกงจำนำข้าวรอบที่แล้ว เพื่อจะให้ประชาชนลุกฮือ ทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาลนี้ รัฐบาลจึงต้องมีหน้าที่ ชี้แจงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น โดยให้ส่วนท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่เพื่อชี้แจงโดยด่วน แล้วดำเนินการใช้กฎหมายเพื่อเรียกแกนนำซึ่งกำลังบิดเบือนข้อเท็จจริงอยู่ เพื่อมาปรับความเข้าใจในเบื้องต้น หากยังดึงดัน ให้ใช้มาตรการตามความเหมาะสม ซึ่งรัฐบาลมีกฎหมายเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว แต่ต้องละมุนละม่อม เพราะบางคนอาจจะเข้าใจผิด ฟังเรื่องบิดเบือนมา แต่สำหรับผู้ที่บิดเบือนทั้งข้อมูลทางสื่อออนไลน์ ของกลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากจำนำข้าว หรือพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง ขอให้รัฐบาลจัดการโดยเร่งด่วน มิเช่นนั้นอาจจะมีม็อบชาวนา ที่เขาอาจออกมาเพราะความเข้าใจผิดได้
พท.ชี้รับฝากข้าวเหมือนรับจำนำข้าว
นายพิชัย นริพธพันธ์ อดีตรมว.พลังงาน และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงโครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางจากชาวนา ว่า โดยหลักการแล้ว ตนเห็นด้วยกับโครงการรับฝากข้าวของรัฐบาลในราคาประมาณตันละ 11,525 บาท เพราะเป็นการช่วยเหลือชาวนาที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ แต่หลักการของโครงการนี้เป็นหลักการเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว ดังนั้นรัฐบาลจะสองมาตรฐานไม่ได้ จะบอกอันนี้ทำได้ไม่เสียหาย แล้วอีกอันทำไม่ได้เพราะเกิดความเสียหาย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่คนอื่นทำผิด แต่ตัวเองทำไม่ผิด นอกจากนี้หากจะทำให้โครงการมีประสิทธิภาพก็ควรใช้แนวทางของรัฐบาลที่แล้ว คือการช่วยให้เกษตรกรแบ่งโซนในการปลูกข้าว เป็นการวางแผนทั้งระบบ คือระยะสั้นไปจนถึงระยะยาวในการแบ่งโซนปลูกข้าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร เกษตรกรจะปลูกข้าวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านก็ปลูกเหมือนเราหมด เราจึงแข่งขันด้านต้นทุนไม่ได้ จึงต้องแบ่งโซนในการเพาะปลูก อย่าคิดว่านโยบายของใคร แต่ขอให้ทำเพราะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร
"บิ๊กตู่" ย้ำทูลเกล้าฯ รธน. 9 พ.ย.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ไหน โดยเมื่อครบกำหนดที่ต้องทูลเกล้าฯ ในวันที่ 9 พ.ย. ก็ต้องขึ้นทูลเกล้าฯ ไปภายในเวลาที่กำหนด จากนั้นพระองค์ท่านก็จะไปพิจารณาอีก 90 วัน ก็จะลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญเขาก็ชี้แจงมาแล้วว่า สามารถแก้ไขคำปรารภได้ เพราะมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง และพระปรมาภิไธยก็ต้องเปลี่ยนแปลง แต่สาระสำคัญก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะทำมาแล้ว ก็ไปรอดูแล้วกันอย่าไปกังวล ยังไงก็ได้ใช้แน่
"มีชัย" เผยแก้คำปรารภเสร็จแล้ว
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงขั้นตอนการแก้ไขคำปรารถร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า จะแก้ไขคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญ ส่งกลับคืนไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เย็นนี้ กำหนดเวลานายกฯ นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน จะครบวันที่ 10 พ.ย. ยังมีเวลา ส่วนที่พรรคการเมืองประเมินว่า การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นกลางปี 2560 เร็วกว่าโรดแม็พเดิมที่วางไว้ ก็ต้องไปถามพรรคการเมืองเอง ปฏิทินทุกอย่างยังเป็นตามกรอบเวลาเดิมที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนการลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อรับฟังความเห็นประกอบการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ จะเสร็จกลางเดือนพฤศจิกายน โดยรูปแบบจะเหมือนตอนชี้แจงเนื้อหาก่อนทำประชามติ สำหรับตอนนี้ กรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะเอาให้เสร็จร่างแรกสัปดาห์นี้ แล้วสัปดาห์หน้าต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. จากนั้นก็จะนำความเห็นจากที่รับฟังพรรคการเมืองและประชาชนมาพิจารณาประกอบอีกครั้ง
เซ็งลี้เก้าอี้ รมต. โทษประหาร
เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสมาชิกและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง นายมีชัย กล่าวว่า ตอนนี้ยังพูดถึงเนื้อหากฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้มาก ข้อกำหนดดังกล่าว เรื่องระยะเวลาการหาสมาชิก คุณสมบัติกรรมการบริหารพรรค ต้องกำหนดในบทเฉพาะกาล ที่จะเขียนได้ต่อเมื่อเนื้อหาช่วงแรกเสร็จ หลักการทำกฎหมายพรรคการเมืองของ กรธ.คือ ทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองต้องตรงไปตรงมา เป็นที่พึ่งของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้คนทุจริตการเลือกตั้งไม่มามีส่วนกับพรรค โดยอาศัยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาบางเรื่อง อย่างการจ่ายเงินให้หัวหน้าพรรคแลกตำแหน่งรัฐมนตรี ก็จะกำหนดโทษให้แรงถึงประหารชีวิตทางการเมือง ถือเป็นการซื้อขายตำแหน่ง จะวางโทษประหารสำหรับคนเรียกเงิน ส่วนคนจ่ายให้มีโทษแรง โดยมอบให้ กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบ ประชาชนสามารถฟ้อ งกกต.ได้ นอกจากนี้จะเขียนไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วย ถ้าปิดกันได้ก็ปิดไป แต่อย่าให้หลุดออกมา เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่า กฎหมายพรรคการเมืองของ กรธ.จ้องลดทอนกำลังพรรคเพื่อไทย นายมีชัย กล่าวว่า เราไม่ได้เขียนเจาะจงใคร เราเห็นว่า ถ้าใครทำผิดก็ต้องโดนลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็ไม่โดน คงต้องถามตัวเองกันว่ามีพฤติกรรมแบบนี้หรือไม่ กรธ.แค่ว่า พฤติกรรมเหล่านี้ดีหรือไม่ ถ้าอันไหนไม่ดีก็ห้าม
กรธ.ยังไม่คิดรีเซต กก.บริหารพรรค
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรธ.กำลังเร่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งล่าสุดพิจารณาเสร็จไปแล้วประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการห้ามผู้ถูกถอดถอนเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น กรธ.ยังไม่ได้กำหนดว่าจะห้ามเป็นตลอดชีวิตหรือไม่ ส่วนการรีเซตกรรมการบริหารพรรคนั้น กรธ.ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว โดยอยากให้แต่ละพรรคมีความเป็นอิสระในการจัดการผู้บริหารพรรคกันเอง ตามข้อกำหนดคุณสมบัติในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เพราะ กรธ.ไม่อยากเข้าไปแทรกแซงการทำงาน นอกจากนี้เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพรรคการเมือง จะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้ทราบให้ตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสในการบริหารงาน ทั้งนี้ล่าสุดการประชุม กรธ.กำลังพิจารณาถึงเรื่องสาขาพรรค ว่าจะกำหนดให้มีทั้ง 4 ภาคหรือไม่ เพราะ กรธ.เองอยากให้พรรคการเมืองเป็นพรรคระดับชาติไม่ใช่เป็นพรรคระดับจังหวัดหรือพรรคระดับภูมิภาคเท่านั้น
เชื่อ กม.ลูกพรรคการเมืองเข้มข้นขึ้น
นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ที่ กรธ.เตรียมกำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้น ทาง กรธ.คงจะพิจารณาดูแล้วว่าผู้ที่จะมาเป็นกรรมการบริหารพรรคได้นั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติแบบเดียวกับ ส.ส. ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไม่มีความเหมาะสมแล้วจะมาเป็นก็ได้ แต่ขณะนี้เรายังไม่เห็นบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า หากกรรมการบริหารพรรค หรือ ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว จะมีผลหรือบทลงโทษอย่างไร จะต้องถูกยุบพรรคหรือไม่ รวมทั้งต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งด้วยหรือไม่ เพราะยังไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองออกมาแบบจริงจัง แต่เท่าที่มองดูแล้วเชื่อได้ว่าการเขียนคุณสมบัติแบบนี้กรรมการบริหารพรรคจะต้องมีความรับผิดชอบต่อพรรคมากขึ้น เช่นเดียวกับสมาชิกพรรค หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้นบทบัญญัติที่จะเกิดขึ้นใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนี้คงจะมีความเข้มข้นขึ้นมากแน่นอน
"บิ๊กป้อม" ห้ามชาวนาเคลื่อนไหว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการช่วยเหลือของทหารในช่วงที่ข้าวราคาตกต่ำว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ จะดูแลและบูรณาการ ส่วนที่นายกฯ ระบุว่ามีการรวมหัวของนักการเมืองกับโรงสีเพื่อกดราคาข้าวของชาวนานั้น อย่าถามตนเรื่องนี้เลยเพราะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ขอให้ถามเรื่องความมั่นคงดีกว่า หรือไม่สื่อก็ต้องช่วยไปดู หากสื่อถามมาตนในเรื่องดังกล่าวก็จะให้ คสช. ผู้ว่าราชการจังหวัด และตำรวจลงไปดู ส่วนขณะนี้จะมีชาวนาออกมาเคลื่อนไหวกดดันราคาข้าวหรือไม่นั้น อาจมีบ้างแต่ยังไม่ชัดเจน แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้รวมตัวกันเพราะรวมตัวไม่ได้ ซึ่งขณะนี้มาตรการการช่วยเหลือก็ออกมาชัดเจนผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีชาวนาออกมาเคลื่อนไหว มีเพียงแต่ข่าว เพราะตอนนี้รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาอยู่และทำตลอด หากรัฐบาลไม่ทำอะไร ก็ว่าไปอย่าง สื่ออย่ามาบี้ให้มาก อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าประเด็นเรื่องข้าวจะไม่กลายเป็นเรื่องการเมืองเพราะรัฐบาลได้แก้ปัญหาแล้ว ส่วนที่สื่อระบุว่า ตนไล่ชาวนาให้ไปขายปุ๋ยแทนข้าวนั้น เรื่องนี้เป็นการพูดเล่นกับสื่อมวลชนบางคนเท่านั้น แต่สื่อกลับไปเขียนเลอะเทอะไปหมด เป็นการคุยเล่นหลังให้สัมภาษณ์เสร็จ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีปุ๋ยที่ไหนจะราคาแพงกว่าข้าวได้
แฉพบแก๊งกดราคาข้าวที่พิจิตร
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่นายกรัฐมนตรีระบุว่ามีนักการเมืองรู้เห็นกับโรงสีข้าวร่วมมือกันเพื่อกดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิชาวนา นั้น ตามปกติข้าวหอมมะลิจะออกในเดือนตุลาคม 10 เปอร์เซ็นต์ เดือนพฤศจิกายน 80 เปอร์เซ็นต์และในเดือนธันวาคมอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเรื่องข้าวส่วนใหญ่ยังไม่ออกมา เหตุใดจึงมีข่าวราคาข้าวตกต่ำออกมาก่อน จึงทำให้ดูมีความสอดคล้องว่ามีกระบวนการที่ต้องการทำให้สังคมเกิดความสับสน และพยายามจะทำให้เห็นว่าวันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด โดยพยายามทำให้เห็นว่าการแก้อย่างถูกต้องนั้น คือการเอาเงินไปให้ชาวนา นอกจากนั้นยังมีการสร้างเพจปลอมเรื่องการขายข้าวซึ่งเรื่องราวทั้งหมดทั้งสอดคล้องกันเพื่อให้เห็นว่าต้องการทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาลว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งที่เมื่อดูจากข้อเท็จจริงหากการเอาเงินช่วยชาวนาแก้ปัญหาได้จริงจะไม่เกิดปัญหาที่เป็นอยู่แบบนี้ทุกปี นอกจากนี้ นายกฯ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ส่วนกรณีที่เกษตรกรขายข้าวผ่านทางสื่อออนไลน์นั้น สามารถทำได้ และแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรเริ่มมีการปรับตัว แต่บางคนกลับบอกว่าผิดกฎหมาย และนายกฯ สั่งการให้ฝ่ายความมั่นลงไปตรวจสอบว่ามีกระบวนการใดทำให้ราคาข้าวตกต่ำ เกิดจากปัจจัยอะไร ซึ่งเบื้องต้นอาจจะยังไม่พบเป็นตัวบุคคล แต่เท่าที่ทราบเหตุการณ์นี้พบในพื้นที่ จ.พิจิตร
ชี้ชาวนากลาง-เหนือถูกปลุกระดม
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวว่า จากการที่ตนนำทีมงานลงพื้นที่ตามโครงการ สนช.พบประชาชน พบว่าปัญหาราคาข้าวมีผลกระทบไปทั่ว เพราะราคาต่ำมาก จากที่สอบถามพวกพ่อค้าคนกลาง และบรรดาโรงสีบอกว่า ไม่อยากจะรับซื้อข้าวเปลือกเจ้า ไปซื้อข้าวหอมมะลิเก็บตุนไว้ยังจะดีกว่า รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้จุดนี้ ทั้งนี้ ส่วนตัวตนว่า มาตรการที่รัฐออกมาช่วยชาวนาเริ่มเห็นผลในหลายเรื่อง แต่กระแสอื่นๆ ที่ได้ยินมาเรื่องปลุกปั่นมีเหมือนกัน เช่น กลุ่มการเมืองที่มาแหย่ มาปลุกปั่นในกลุ่มชาวบ้านก็มี เขาจะพยายามรวมตัวชาวนาให้ได้ ดังนั้น นอกจากออกนโยบายช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว รัฐบาลต้องรีบลงมาไวๆ ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ เรื่องการข่าวอย่าให้พวกฉวยโอกาสทางการเมืองเข้ามาปลุกระดม กระแสข่าวนี้ได้ยินมาค่อนข้างแน่ โดยเฉพาะภาคกลาง กับภาคเหนือตอนล่าง ขอให้รีบลงมาหามือชาวนาโดยด่วน
สนช.ชาวนา ชี้หวัง ไอโฟนแต่ได้แค่ซัมซุง
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานสมาคมชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมติรับจำนำยุ้งฉางข้าวหอมมะลิจาก นบข.ที่ตันละ 8,730 บาท ไม่ถึงตามข้อเรียกร้องอย่างน้อยตันละ 12,500 บาท จากกลุ่มชาวนา ว่า ในฐานะที่มีโอกาสเข้ามาทำงานด้านนิติบัญญัติ และก็ยังเป็นชาวนาอยู่ ที่ผ่านมาก็ได้ส่งข้อมูลข้อเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนาให้แก่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จนนำมาสู่มาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลหลายอย่าง เช่น ค่าช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท การพักชำระหนี้เกษตรกร โดยมติล่าสุดที่ นบข.มีมติกำหนดราคารับจำนำยุ้งฉางประจำฤดูกาลนี้ ก็ถือเป็นการช่วยเหลือชาวนา เป็นไปตามเงื่อนไขจากเงินในกระเป๋าของรัฐบาลที่มีอยู่ เริ่มจากข้าวหอมมะลิก่อน แล้วข้าวชนิดอื่นก็จะตามมา แน่นอนว่า นายกฯ มีนโยบายชัดเจนว่า จะไม่เพิ่มราคาจำนำข้าวดื้อๆ โดยไม่สนกลไกการตลาด และกติกาการค้าโลกที่ไม่ให้รัฐบาลประเทศใดแทรกแซงราคาสินค้า จนทำให้ประเทศอื่นที่ยากจนเสียเปรียบ ถ้ารัฐบาลเราทำก็จะต้องเจอมาตรการกดดันจากสังคมโลกอีก ตอนนี้ราคาขายข้าวอยู่ที่เกวียนละ 8 พันกว่าบาท จะให้รัฐรับจำนำเกวียนละ 1 หมื่นบาทจึงเป็นไปไม่ได้ มาตรการดังกล่าวจึงเป็นการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลแล้ว และจะมีมาตรการช่วยเหลืออื่นพี่น้องชาวนาออกมาเป็นระลอกอีก นอกจากนี้ผมยังได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในการประชุม สนช.ในสัปดาห์นี้ เรื่องราคาข้าวตกต่ำ โดยจะอภิปรายถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลให้ราคาข้าวตกลง ไม่ใช่ต่อรองขอเพิ่มราคาจำนำข้าวจากรัฐบาล เชื่อว่าทางนายกฯ น่าจะมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาทำหน้าที่ชี้แจง ซึ่งในฐานะเกษตรกรคนหนึ่ง ผมไม่ปฏิเสธว่า อยากได้ราคาจำนำข้าวสูงๆ แต่มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง เหมือนเราอยากได้ไอโฟนเครื่องละ 3 หมื่น แต่พ่อแม่ซื้อให้เราได้แค่ซัมซุงก็ควรจะพอใจ นี่คือการช่วยเหลือแล้ว ผมพูดอย่างเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างใคร
โวยรัฐโยนความผิดให้คนอื่น
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีการกล่าวหานักการเมืองและเจ้าของโรงสีร่วมมือกันทำให้ราคาข้าวบิดเบือน ว่า ขณะนี้ชาวนากำลังเดือดร้อนจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตรง ไม่ควรใช้วาทกรรมมาโยนความผิดให้คนอื่น ทุกข์ของชาวนาไม่มีใครปั้นหรือตบแต่งเรื่องขึ้นมาได้ การมองปัญหาเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์และเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา และที่สำคัญไม่เป็นผลดีต่อการส่งเสริมความปรองดองและความร่วมมือของคนในชาติ การพูดอะไรต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ใช่คิดเอาเอง ทุกวันนี้ชาวนาก็มีความทุกข์ยากมากพออยู่แล้ว อย่าไปซ้ำเติมชาวนาอีกเลย ปัจจุบันรัฐบาลมีอำนาจเต็มและมีกลไกทุกอย่าง หากรู้ปัญหาจริงก็สามารถสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันที เพราะนอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวนาแล้วยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นอีกมาก ซึ่งหลายภาคส่วนในสังคมอยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนไม่ใช่การพูดลอยๆ เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหาย
"ณัฐวุฒิ" เชื่อจำนำยุ้งฉางมีปัญหา
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำคือความจริงที่เจ็บปวดของชาวนา ไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่ใครจะหาเรื่องให้ร้ายกัน ถ้าคนแบบ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์พูดตนจะไม่ใส่ใจ แต่เมื่อนายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาลใช้มาตรฐานเดียวกันโดยการกล่าวหาว่ามีนักการเมืองร่วมมือกับโรงสีกดราคาข้าวก็ไปกันใหญ่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแค่แสดงความเห็นต่างก็ถูกคุกคาม ดำเนินคดีจนสะบักสะบอม ถ้ามีนักการเมืองรายไหนไปทำอย่างที่กล่าวหาจริงรัฐบาลจะปล่อยไว้ได้อย่างไร อยากให้ผู้มีอำนาจให้เกียรติชาวนาและประชาชนโดยการพูดถึงปัญหาด้วยความจริง แล้วแสดงฝีมือแก้ไขให้ได้ เรื่องนี้ตนเอาใจช่วย เมื่อเห็นมาตรการที่ออกมานั้นก็มีข้อสังเกตบางประการ เช่น การจำนำยุ้งฉางไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลนี้ประกาศเดินหน้าตั้งแต่เดือน ต.ค.57 แต่มีการสรุปผลการดำเนินการหรือไม่ ควรแถลงต่อสังคมด้วยว่าได้ผลเป็นอย่างไร จะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องขายผ้าเอาหน้ารอดเพียงให้มีคำตอบกับชาวนาว่าได้แก้ปัญหาให้ และรัฐบาลต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วยว่า มาตรการเหล่านี้จะถูกเทียบเคียงกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้วทั้งในแง่ผลสัมฤทธิ์และความผูกพันทางกฎหมาย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต่างๆ จะขาดความเชื่อมั่น เพราะในขณะที่เดินโครงการจำนำยุ้งฉางก็มีการดำเนินคดียึดทรัพย์กับเจ้าหน้าที่ในโครงการจำนำข้าวเกือบ 1,000 คดี ซึ่งส่วนตัวกังวลว่า มาตรการนี้อาจมีปัญหาในการปฏิบัติ เพราะเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังเป็นคนเดิม และกำลังตกเป็นผู้ต้องหาจากการทำโครงการในลักษณะเดียวกัน "เรื่องปราบทุจริตไม่มีใครค้าน แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจควรปรับทัศนคติตัวเองให้ชัดเสียก่อนว่า ทั้งจำนำข้าวหรือจำนำยุ้งฉางคือมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือชาวนา ไม่มีเรื่องกำไรขาดทุน เพราะหากยึดมาตรฐานเดียวกันก็น่าห่วงว่า จบโครงการแล้วจะแถลงปิดบัญชีกันอย่างไร
ที่มา : บ้านเมือง วันที่ 2 พ.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.