บรรยง พงษ์พานิช ระบุแม้ค้านนโยบายจำนำข้าวตั้งแต่หาเสียง หนุนดำเนินคดีเอาผิดกับคนทำเสียหาย แต่การดำเนินคดีที่รวบรัด เหมาเอาผิดหมด ไม่ว่ากันตามเนื้อผ้า ส่งผลกระทบของกระบวนยุติธรรมและกระบวนการนโยบายสาธารณะ เกรงอีกหน่อยจะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย
25 ต.ค. 2559 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และกรรมการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โพสต์ความเห็นต่อโครงการรับจำนำข้าว การเร่งรัดดำเนินคดีดังกล่าวและผลกระทบที่จะตามมา ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Banyong Pongpanich' ในลักษณะสาธารณะ ซึ่งมีการกดไลค์กว่า 1,700 และ 383 แชร์
3 เหตุผลที่คัดค้านตั้งแต่หาเสียง
บรรยง โพสต์ว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็ได้แสดงความเห็นคัดค้านมาตลอด ตั้งแต่มีการคิดนโยบายเอามาหาเสียง และตลอดเวลาที่ดำเนินนโยบาย ตนก็มีการคัดค้านอย่างเปิดเผยตลอดมา ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ 1. เป็นการฝืนกลไกตลาด ความคิดที่จะกักตุนเพื่อลดอุปทานตลาดโลกแล้วหวังว่าจะทำให้ราคาดีขึ้นนั้น เป็นความคิดที่ไร้สาระเพราะเราผลิตข้าวเพียง 5% ของโลก ถึงแม้จะส่งออก 30%ของตลาดโลก
2. จะทำให้เกิดการเบี่ยงเบน เราจะผลิตข้าวมากขึ้นทั้งๆที่ประเทศไม่ได้มี Comparative Advantageจริง และการอุดหนุนอย่างนี้จะลดความกดดันที่จะให้ชาวนาเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มคุณภาพ 3. เป็นการที่รัฐยึดอุตสาหกรรมข้าวมาทำเอง (Nationalization)ซึ่งนอกจากห่วยแล้วยังจะหาย คือ มีการทุจริตเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน
"ผลก็อย่างที่ทราบแหละครับ คือ นอกจากทำให้ข้าวไทยถอยหลังแล้ว ยังมีความเสียหายมากมาย ผมไม่เถียงหรอกครับว่าชาวนาได้รับประโยชน์บางส่วน แต่ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน อย่างที่เสียหายไป 500,000 ล้าน ผมเชื่อว่าชาวนาได้รับ ประโยชน์อย่างมากแค่ครึ่งเดียว 250,000 ล้าน ส่วนที่หายไปก็ไม่ใช่เป็นการโกงทั้งหมดนะครับ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่หายไปกับความไร้ประสิทธิภาพของระบบมากกว่า แต่มีโกงมีกินแน่นอน ซึ่งผมเชื่อว่ารวมประโยชน์มิชอบของพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมืองทุกฝ่าย ไม่น่าจะเกินห้าหมื่นล้านบาท แต่ก็มากโขอยู่" บรรยง โพสต์
บรรยง โพสต์ย้ำด้วยว่า ที่ตนคัดค้านตลอดมา ก็เป็นการคัดค้านนโยบาย คัดค้านไม่ให้นำนโยบายประชานิยมที่คิดง่ายๆ ไม่รอบด้าน คิดเร็วๆ ชุ่ยๆ เพียงเพื่อจะให้ชนะเลือกตั้ง มาปฏิบัติให้เกิดผลเสียหายมหาศาลถึงเพียงนี้ และการคัดค้านของตนก็เป็นไปอย่างเปิดเผย ต้องการให้หยุดนโยบาย ต้องการให้สังคมรับรู้ได้บทเรียน
ยุติธรรม? รวบรัดเอาผิด ศาลเดียว เอาผิดหมดแทนที่จะจับคนโกง
บรรยง โพสต์ถึงกระบวนการดำเนินคดีจำนำข้าวด้วยว่า การที่เรามาเร่งรัดจะเอาผิด กับหัวหน้ารัฐบาลที่ทำเรื่องนี้ กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางอาญาทางแพ่ง ในกระบวนการที่รวบรัดเกินไป จะต้องคิดให้ดีว่ามันยุติธรรมจริงไหม กับจะส่งผลกระทบอะไรต่อไปอีกบ้าง อย่างข้อหาที่ว่าทำนโยบายที่มีการเปิดโอกาสให้มีการทุจริตได้นั้น ตนอยากถามเลยว่า ในประเทศนี้ มีนโยบายอะไรบ้างที่รัฐจ่ายเงินแล้วไม่มีโอกาสเกิดทุจริตเลยแม้แต่น้อย ตนกลัวว่า ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้น แทนที่เราจะไปหาว่าใครโกง กระบวนการไหนที่บกพร่อง จับคนผิดคนโกงมาลงโทษ ว่ากันไปตามเนื้อผ้า เรากลับเล่นหัวตลอดลำตัวไปถึงหางอย่างนี้ ว่าใครอยู่ในกระบวนการต้องรับผิดชอบหมดทุกคน ไม่ว่าโกงไม่โกง ใครมีอำนาจต้องโดนหมด ไม่ว่าจะได้ประโยชน์เข้าพกเข้าห่อหรือไม่ แถมใจร้อน ใช้กระบวนการเร่งรัด ใช้ศาลเดียว ใช้อำนาจยึดทรัพย์เร่งด่วน ไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้ตามครรลอง
"เหมือนคดีกรุงไทยแหละครับ ที่ผมขอยืนยันว่า ผู้ที่ถูกลงโทษทั้งยี่สิบกว่าคน ไม่ใช่ทุกคนที่มีการทุจริตอย่างแน่นอน แต่โดนตัดสินรวบยอดในศาลเดียว" บรรยง โพสต์
กลัวจะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย
"อย่างนี้ ที่ผมกลัว อีกหน่อยจะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย เพราะนโยบายที่จะแน่ใจว่าปลอดทุจริตร้อยเปอร์เซนต์ในประเทศนี้ เวลานี้ บอกได้เลยว่าหาแทบไม่มี หรือแม้กล้าคิดมาแล้ว ข้าราชการเจ้าหน้าที่ คนที่ต้องอยู่ในสายปฏิบัติการก็จะไม่มีใครกล้าเอาไปทำ เลยกลายเป็นว่าคนกล้าจริงๆ มักต้องมีส่วนได้เสีย ถึงจะคุ้มเสี่ยง" บรรยง โพสต์
บรรยง โพสต์ชวนคิดด้วยว่า ประเทศไทยเป็นระบบที่รัฐใหญ่ ทั้งขนาด บทบาท และอำนาจ เรามีกฎข้อบังคับกว่าแสนฉบับ แถมขยันออกกฎใหม่กฎเพิ่มทุกวัน รัฐธรรมนูญใหม่ก็มุ่งเน้นขยายรัฐเข้าไปอีก แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีภาครัฐที่มีแต่ความกลัว ไม่กล้าทำอะไรใหม่เลย อย่างนี้ไม่เรียกว่าติดกับดักตัวเองแล้วจะเรียกอะไร ไม่ต้องหวัง 4.0 อะไรจากประชาชน ถ้ารัฐยังเป็นแค่ 2.0 อยู่
"ถ้าเรามีกระบวนการยุติธรรมที่อาจไปลงโทษคนที่แค่พลาด คนที่ไม่ได้โกง คนที่กล้าทำ คนที่แค่ไม่ได้ตรวจกฎให้ครบแสนฉบับก่อนลงมือทำ อีกหน่อยจะมีใครกล้าทำอะไรกัน ทุกคนย่อมรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีกันไปหมด ประเทศจะเดินได้อย่างไร ผมไม่ได้บอกว่า อย่าดำเนินคดี อย่าสอบสวนเอาผิด กับคนที่ทำให้เสียหายนะครับ เพียงแต่ขอให้แยกแยะให้ดี และใช้กระบวนการที่ยุติธรรมจริงๆ เท่านั้น" บรรยง โพสต์ พร้อมตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมแบบที้เรามีนั้น ควรได้รับการปฏิรูปจริงจังกันเสียทีไหม
ที่มา : ประชาไท วันที่ 25 ต.ค. 2559