“…ณ วันที่เริ่มดำเนินโรงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 รัฐบาลจะยังไม่ทราบถึงภาระขาดทุนและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีภาระต้องชดเชยผลการขาดทุนดังกล่าวให้กับ ธ.ก.ส. ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ควรมีกระบวนการติดตามการดำเนินโครงการและระบบป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดภาระทางคลังน้อยที่สุด…”
นับเป็นอีกหนึ่งในภาวะ ‘กลืนไม่เข้า-คายไม่ออก’ สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ‘ราคาข้าว’ ที่ย่ำแย่จนถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ขณะนี้
ส่งผลให้รัฐบาล โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีโครงการแจกชาวนาไร่ละ 1,000 บาท รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้จะยังไม่คลี่คลายลงเท่าไหร่นัก ?
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการทบทวนโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2559/2560 และโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2559/2560 เพื่อไปคลี่คลายวิกฤติดังกล่าวแล้ว
แต่ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีเสียง ‘เตือน’ มาจาก สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับการทบทวนโครงการดังกล่าวตามมาด้วย !
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำความเห็นถึงคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบการทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/2560 สรุปได้ ดังนี้
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติพิจารณาทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 มีสาระสำคัญคือขยายความช่วยเหลือเกษตรกรให้ทั่วถึง โดยเพิ่มกลุ่มเกษตรกรให้สามารถกู้เงินสูงสุดไม่เกินกลุ่มละ 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชน กู้เงินสูงสุดไม่เกินแห่งละ 5 ล้านบาท จากเดิมที่ให้เกษตรกรรายคน กู้ได้ไม่เกินรายละ 3 แสนบาท และสหกรณ์การเกษตร กู้ได้ไม่เกินสหกรณ์ละ 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนการระบายข้าวเปลือกนั้น จากเดิมหากเกิดกรณีภาระส่วนต่างระหว่างราคาที่โครงการกำหนดในการให้สินเชื่อกับราคาที่ขายได้เกิดภาระขาดทุน จะขอให้ นบข. พิจารณากำหนดค่าใช้จ่าย เปลี่ยนเป็น กรณีเกิดภาระส่วนต่างดังกล่าว จะขอให้รัฐบาลชดเชยภาระขาดทุนที่เกิดขึ้นแทนผู้เข้าร่วมโครงการ
ส่วนโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2559/2560 นั้น ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิม ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เก็บสต็อกได้ 60-180 วัน เปลี่ยนเป็น ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เก็บสต็อกได้ 60-90 วัน ส่วนตั้งแต่วันที่ 91-180 วัน อัตราดอกเบี้ยเพิ่มเป็นร้อยละ 4 ซึ่งท้ายสุดผลประโยชน์จะตกกับตัวเกษตรกรเอง เพราะราคาข้าวจะมีเสถียรภาพ และเกษตรกรขายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสม ในขณะที่เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือในโครงการพักชำระหนี้ และลดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 และได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมในโครงการฯไร่ละ 1,000 บาท ด้วย
นอกจากนี้ได้ปรับวงเงินค่าใช้จ่ายจากเดิม 940 ล้านบาท เป็น 1,306.5 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 366.5 ล้านบาท) โดยเบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2560 รวมถึงปรับให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้มีวงเงินใกล้เคียงกับสต็อกที่เป็นหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้ยืมเงินของผู้เข้าร่วมโครงการ ที่มีสินทรัพย์อื่นเป็นหลักประกันรวมอยู่ด้วย เนื่องจากในการเข้าร่วมโครงการมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบสต็อกเป็นประจำทุกเดือน
อย่างไรก็ดีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีความเห็นว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ได้ขยายเป้าหมายให้ครอบคลุมกลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนนั้น ควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มเติมอย่างทั่วถึง และควรคัดเลือกกลุ่มที่มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ เช่น มีสถานที่เก็บรักษาข้าวเปลือกที่มีมาตรฐาน ไม่เกิดการรั่วไหลหรือข้าวเปลือกเสื่อมคุณภาพก่อนเวลาอันควร เป็นต้น และพิจารณาผลการดำเนินโครงการฯที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนและเตรียมความพร้อม หากเกิดกรณีภาระขาดทุนจากการดำเนินโครงการฯ
ส่วนโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2559/2560 หน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้ความสำคัญกับการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ได้มีการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรอย่างแท้จริง นอกเหนือจากการตรวจสอบสต็อกข้าวทุกเดือน
สำนักงบประมาณ มีความเห็นสรุปได้ว่า กรณีเกิดภาระส่วนต่างระหว่างราคาที่โครงการกำหนดในการให้สินเชื่อกับราคาที่ขายได้จากการะบาย ทำให้มีภาระขาดทุนจากการดำเนินโครงการ โดยขอให้รัฐบาลชดเชยภาระขาดทุนทีเกิดขึ้นแทนผู้ร่วมโครงการนั้น เห็นว่า ข้อกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกเดิมกำหนดไว้ร้อยละ 90 ของราคาตลาด จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชำระคืนสินเชื่อผ่านการไถ่ถอนข้าวเปลือกหลังจากเข้าร่วมโครงการ ทำให้ภาระขาดทุนของโครงการลดลง
กรณีที่ราคาตลาดปรับตัวลง ซึ่งอาจทำให้ภาระขาดทุนของโครงการสูงขึ้น เห็นสมควรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บริหารวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละรายให้สอดคล้องกับร้อยละ 90 ของราคาตลาด ณ ช่วงเวลานั้น ๆ หรือบริหารจัดการให้วงเงินสินเชื่อที่ปล่อยกู้ต่ำกว่ามูลค่าของข้าวเปลือกที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ณ เวลานั้น ๆ อันจะเป็นการป้องกันการเกิดผลขาดทุนของโครงการ ลดภาระงบประมาณของรัฐบาลในการชดเชยภาระขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนกระทรวงการคลัง มีความเห็นสรุปได้ว่า พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องในหลักการต่อข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ณ วันที่เริ่มดำเนินโรงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/2560 รัฐบาลจะยังไม่ทราบถึงภาระขาดทุนและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีภาระต้องชดเชยผลการขาดทุนดังกล่าวให้กับ ธ.ก.ส. ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ควรมีกระบวนการติดตามการดำเนินโครงการและระบบป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดภาระทางคลังน้อยที่สุด (ดูเอกสารประกอบ)
นี่นับเป็น 3 ความเห็นของ 3 หน่วยงานหลักที่ให้คำปรึกษา-รับผิดชอบฐานะการเงินการคลังของประเทศอยู่ในขณะนี้
ส่วนรัฐบาลจะรับนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเกิดความเสียหายตาม ‘คำเตือน’ เหล่านี้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 25 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.