เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559-ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดการประชุมวิชาการสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร 2559 “ หัวข้อ ภูมิอากาศ การลงทุนข้ามชาติ และจินตนาการสยามที่ยั่งยืนเป็นธรรม” โดยมีเกษตรกรรายย่อย เครือข่ายผู้บริโภคและภาคประชาสังคมกว่า 300 คนเข้าร่วม
นางสาวลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.)กล่าวว่าหลักการของแผนพั
ฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ยังคงยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่แผนฉบับที่ 9 -11 ยึดคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และกลไกการพัฒนาประเทศเน้นการมีส่วนร่วม แต่จะเพิ่มการพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงานน้ำ เพราะถ้าขาดส่วนนี้ประเทศจะไม่มีปัจจัยพัฒนาชาติให้เกิดความมั่นคงได้
น.ส.ลดาวัลย์ คำภา
นางลดาวัลย์ กล่าวว่าความท้าทายความมั่นคงทางอาหารของไทยในระยะต่อไปมีทั้งเรื่องฐานทรัพยากรอาหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยพื้นที่เกษตรกรรมของไทยลดจากจำนวน 81 ล้านไร่ในปี 2549 เหลือเพียง 41 ล้านไร่ในปี2556 เท่านั้น ต้องเตรียมสำรวจตัวเลขที่หายไปว่าอยู่ตรงไหนและมีการใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ขณะที่สัดส่วนของแรงงานภาคเกษตรลดลงจากร้อยละ 67 เหลือร้อยละ 39 โดยส่วนใหญ่เหลือเกษตรกรสูงอายุ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการลงทุนข้ามชาติ การเปิดเสรีการค้า การผูกขาดทางเมล็ดพันธุ์ ที่กระทบต่อภาคการเกษตรของไทยโดยตรงทั้งหมดเป็นความท้าทายที่ สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหา ควบคู่ไปกับการผลักดันเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ในปี 2564 และสนับสนุนให้ภาคเกษตรขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ3ต่อปีและลดหนี้สินของเกษตรกรจากคนละ1แสนบาทต่อครัวเรือนให้เหลือ 59,460 บาท
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) สรุปสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหาร 12 เรื่องสำคัญของปี 2559 ได้แก่ 1.ภาวะโภชนาการ พบว่าในระดับโลกประชากรอายุมากกว่า 18 ปี มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน 600 ล้านคน 462 ล้านคน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 264 ล้านคนขาดธาตุเหล็ก เป็นโรคโลหิตจาง ขณะที่กลุ่มเด็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี อ้วนและน้ำหนักเกิน 42 ล้านคน แคระเกร็น 156 ล้านคน ผอม 50 ล้านคน ส่วนไทย เด็กอายุ 0-5 ปีมีน้ำหนักน้อยร้อยละ 5.1- 6.2 เตี้ย แคะเกร็น ร้อยละ 11.1 อ้วนร้อยละ9.9
2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภาวะแห้งแล้งและน้ำท่วมทำให้อาหารและเกษตรต้องเปลี่ยนแปลงตามด้วยการจัดการอาหารไม่ดี การจัดการ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 3.ปี2559เป็นปีสากลของถั่วเพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง 4.เป็นปีที่เป็นจุดตกต่ำของพืชตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ มีพื้นที่เพาะปลูกลดลงเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี1996 เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับไม่ชัดเจน อีกทั้งการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์และNON-GMOบวกกับพลังกลุ่มต่อต้านของผู้บริโภคและกลุ่มสิ่งแวดล้อม และการถูกBANจากประเทศต่างๆ
5.เกิดการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่โดย ร้อยละ61-65 ของเมล็ดพันธุ์และสารเคมีอยู่ในมือ 3 บริษัทใหญ่ 6.การเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ 7.การตกค้างของสารพิษในผักผลไม้ปี 2559 เกินค่ามาตรฐาน 8.การคัดค้านมาตรฐานบังคับเกษตรอินทรีย์ 9.ปัญหาเรื่องการลงทุนทำสวนกล้วยจีนในไทย 10.นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ที่ส่งผลโดยตรงกับปัญหาการใช้ปุ๋ย สารเคมีและการนำเข้าข้าวโพด ข้าวสาลี 11.การสูญเสียปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน 12.การเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5ล้าน ไร่ ภายในปี 2564
ดร.สมนึก จงมีวศิน
ดร.สมนึก จงมีวศิน เครือข่ายเปลี่ยนตะวันออก กล่าวว่า จากการสำรวจผลกระทบจากการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีแผนดำเนินการ4 เฟส ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 2 เฟสที่จังหวัด ตาก เชียงราย มุกดาหาร สงขลา กาญจนบุรี นั้นสรุปว่าผลประโยชน์จะตกกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่เพราะต้องการให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การคมนาคมและสาธารณูปโภคในพื้นที่ชายแดนอย่างรวดเร็ว เกิดการจ้างแรงงานต่างด้าวในราคาที่ต่ำกว่าแรงงานไทย ซึ่งการประเมินทั้ง 4 เฟสใช้พื้นที่รวมกันราว 5 ล้านไร่หรือเกือบเท่ากับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นอกจากนี้ยังพบว่าการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวยังมองข้ามวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ และเกิดผลกระทบระยะยาวจากการการยกเว้นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร
“หากคำนวณผลกระทบทั้งหมดนี้ จากตัวเลขอัตราการส่งเสริมการลงทุนของไทย ในการลงทุนเขตเศรษฐกิพิเศษ 280,000 ล้านบาทต่อปี แต่เรามีรายได้กลับมาเพียง 1.1 หมื่นล้านต่อปี เท่ากับรัฐจะขาดทุน25เท่าและยังกระทบต่อเกษตรกรไทยและความมั่นคงทางอาหารอย่างชัดเจน”นายสมนึก กล่าว
นายธีระ วงษ์เจริญ
นายธีระ วงษ์เจริญ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ระบุ ขณะนี้สถานการณ์ทุนจาก “ล้งจีน” เข้ายึดการลงทุนสวนผลไม้ยอดนิยมในไทย เช่น ทุเรียนแช่แข็ง ลำไย ลองกอง กล้วยไข่ มังคุด สูงถึง 98% ส่วนชาวสวนไทยอีก 2% ตามไม่ทัน และรัฐไม่สนับสนุน อนาคตข้างหน้าไทยจะไม่เหลืออะไร เพราะถูกฉกความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพดี
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 17 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.