ล่าสุดเพื่อให้การบริหารงานการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ผิดกฏหมายอย่างบูรณาการและยั่งยืน อีกทั้งการบรรเทาความเดือดร้อน และเพิ่มคุณภาพชีวิตลูกหนี้นอกระบบ รวมถึงเพื่อสร้างมาตรการป้องกันประชาชนทั่วไปตระหนักถึงภัยของหนี้นอกระบบ และยังสามารถเข้าถึงบริการการทางการเงินโดยง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งรู้จักบริหารจัดการทางการเงินมากขึ้น
คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 จึงได้ให้ความเห็นชอบเรื่องการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ภายใต้หลักการที่จะบริหารจัดการปัญหาหนี้นอกระบบด้านลูกหนี้และด้านเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และมีความต่อเนื่อง
โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามมติเห็นชอบคณะรัฐมนตรีฯ กระทรวงการคลังจะมีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคี ใน 5 มิติ อันประกอบด้วย
1. ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย
โดยประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าร่วมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้ และคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง
โดยเจ้าหนี้นอกระบบที่จะประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และมีคุณสมบัติอื่นเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขอื่นของกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. .... ซึ่งจะมีการเพิ่มโทษสำหรับเจ้าหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดให้สูงขึ้น จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี เป็นปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด
2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ
เพื่อให้ประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน และสามารถกู้ยืมเงินในระบบได้ง่ายและรวดเร็วผ่านสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ หรือธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การที่อยู่ระหว่างรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะมีผลภายใน 1 เดือน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าบริการ และค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี โดยให้กู้ยืมทั้งแบบมีหรือไม่มีหลักประกัน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีปัจจุบัน 123,000 ล้านบาทได้
ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ภายในธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่าปกติเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่ประชาชนโดยเฉพาะ
3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้
เพื่อช่วยดูแลให้คำปรึกษาแก่ประชาชนในเบื้องต้น และช่วยนำลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่กลไกการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ จะมีจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ณ สาขาของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
ของคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบใน 77 จังหวัด เพื่อให้เกิดมูลหนี้ที่เป็นธรรม ก่อนที่ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จะได้พิจารณารีไฟแนนซ์สินเชื่อเข้าสู่ในระบบให้ตามศักยภาพของลูกหนี้แต่ละรายต่อไป
4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ
สำหรับกรณีลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ จะได้รับการสนับสนุนฟื้นฟูอาชีพ ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบใน 77 จังหวัด โดยจะได้รับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน รวมถึงฝึกอบรมอาชีพหรือทักษะฝีมือแรงงานอย่างเข้มข้น ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีก
5. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง
จะมีการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบผ่านเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนต่างๆ เผยแพร่ความรู้และทักษะเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงินส่วนบุคคลแก่ประชาชนฐานราก ประชาสัมพันธ์ช่องทางที่ประชาชนจะขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบของประชาชนต่อไป
โดยทั้ง 5 มาตรการ กระทรวงการคลังเล็งเห็นว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังกล่าว จะสามารถลดปัญหาเจ้าหนี้ได้
ทั้งนี้ ลูกหนี้นอกระบบสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจากภาครัฐ
ณ จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีอยู่ ณ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามทางสายด่วนธนาคารออมสิน โทร. 1115 และสายด่วน ธ.ก.ส. โทร. 0 2555 0555 โดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดเนื่องจากไม่ถือเป็นโครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ
สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบที่ประสงค์จะไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ ณ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ในเขตกรุงเทพฯ หรือสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ในทุกจังหวัด นอกจากนี้ ในส่วนของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ กระทรวงการคลังจะเปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบหรือผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยจะมีการประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์เงื่อนไขและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทางเว็บไซต์ www.fpo.go.th ต่อไปตามลำดับ
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 17 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.