กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน ปี 2559
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯกำลังเร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้ในระบบแต่เสียดอกเบี้ยสูง โดยใช้เงินช่วยเหลือของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนของ บจธ. เบื้องต้นมีเกษตรกรผ่านการพิจารณาช่วยเหลือด้านเงินกู้จากคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนจังหวัด และ อชก.ส่วนอำเภอ จำนวน 809 ราย วงเงิน 202.74 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 330 ราย วงเงิน 323.17 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 525.91 ล้านบาท แต่กระทรวงเกษตรฯติดปัญหาเรื่องงบประมาณ จึงได้ลงนามเอ็มโอยู เพื่อให้ บจธ.และ ธ.ก.ส. เข้ามาช่วยเหลือด้านเงินกู้แทน คาดภายใน 1-2 สัปดาห์ บจธ.และ ธ.ก.ส.จะสามารถอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มแรกก่อน 809 ราย
“เกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบต้องจ่ายดอกเบี้ย 3-4% ต่อเดือน โดยนำที่ดินไปค้ำประกันนายทุน หรือขายฝากที่ดินโดยโอนกรรมสิทธิ์ให้เลย และซื้อคืนทีหลัง ทำให้โอกาสสูญเสียสิทธิในที่ดินสูงมาก เพราะดอกเบี้ยแพงและจ่ายไม่ไหว จึงเร่งช่วยเหลือเพื่อเกษตรกรไม่ต้องเสียสิทธิในที่ดินทำกิน เฉลี่ยจะมีที่ดินรายละ 5-15 ไร่ และให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำกว่า 3 % ต่อปี รวมทั้งสนับสนุนให้ประกอบอาชีพอื่น” นายธีรภัทรกล่าว
นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า บจธ.จะดำเนินการไถ่ถอนที่ดินจากนายทุนแทนเกษตรกรก่อน เพื่อให้เกษตรกรกลับมามีสิทธิในที่ดินและนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกู้เงินอัตรา 3% ต่อปี วงเงินไม่เกิน 800,000 บาทต่อราย ระยะชำระคืนสูงสุด 30 ปี พร้อมกับช่วยไกล่เกลี่ยด้วยกรณีที่มีปัญหา
สำหรับความคืบหน้า บจธ.เตรียมยกระดับเป็นธนาคารที่ดิน สังกัดกระทรวงการคลัง โดยมี 3 ภารกิจหลัก คือ 1.การป้องกันการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร 2.การกระจายถือที่ดินในประเทศ 3.การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ได้จัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผ่านความเห็นชอบ ครม.ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมาย คาดจะสามารถจัดตั้งธนาคารที่ดิน ภายในเดือนกรกฎาคม 2560
นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบและไม่สามารถชดใช้หนี้สินเองได้ ส่วนใหญ่ 60% เป็นเกษตรกรจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ดินเฉลี่ยต่อราย 14-15 ไร่
ที่มา : มติชน วันที่ 3 ต.ค. 2559