คปท.ยื่นจดหมายรัฐบาลขอให้แก้ปัญหาคดีโลกร้อนคนจนและคุ้มครองพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 55 เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนเกษตรกร องค์กรชุมชน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับผลกระทบจากการที่กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ฟ้องร้องคิดค่าเสียหายและข่มขู่คุกคามในพื้นที่ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านรองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เพื่อแก้ไขปัญหาตามที่ได้ประกาศเป็นนโยบายเอาไว้ ในข้อ 5.4
ที่ คปท. 54 / 2555
28 พฤษภาคม 2555
เรื่อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งการใช้แบบจำลองประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
(ค่าเสียหายคดีโลกร้อน) และคุ้มครองพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้
เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ข้อเสนอทางนโยบายการแก้ไขปัญหาคดีโลกร้อนกับคนจน ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ข้อ 5.4
2. ข้อเสนอทางนโยบายการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่าไม้ ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ข้อ 5.4
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เป็นเครือข่ายเกษตรกรที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำกินในพื้นที่เขต ป่าต่างๆ สืบทอดดั้งเดิมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ต่อมาชุมชนเหล่านี้ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ในรูปแบบเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยการประกาศเขตป่าดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ได้ประกาศโดยไม่มีการสำรวจ หรือมิได้ดำเนินการสำรวจโดยครบถ้วน ไม่มีการกันเขตพื้นที่ชุมชนออกจากพื้นที่ประกาศเขตป่าอนุรักษ์
การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ดังกล่าว เป็นการละเมิดต่อสิทธิการอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตและจารีตประเพณี รวมถึงการมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและ ยั่งยืน อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (มาตรา ๔๖) และ พ.ศ.๒๕๕๐ (มาตรา ๖๖) ส่งผลกระทบให้เกษตรกรถูกจับกุมดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ถูกบังคับให้ต้องออกจากที่ดินดั้งเดิมของตนเอง เกิดความขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและวิถีชีวิตของเกษตรกร
ปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ยังได้ดำเนินคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากเกษตรกร ที่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนกับพื้นที่ป่า โดยได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ที่มีรายละเอียด 1. ค่าเสียหายทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาท ต่อไร่ต่อปี 2. ค่าเสียหายทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี 3. ค่าเสียหายทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 4. ทำให้ธาตุอาหารในดินสูญหาย 4,064 บาทต่อไร่ต่อปี 5. ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี 6.ทำให้น้ำสูญเสียจากการแผดเผาของดวงอาทิตย์ 52,800 บาท ต่อไร่ต่อปี และ 7. ค่าเสียหายจากการทำลายป่า 40,825.10 บาท ต่อไร่ต่อปี รวมเป็นค่าเสียหายการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน ไร่ละ 150,000 บาท
ปัจจุบัน มีเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายฯ ถูกดำเนินคดีโลกร้อนจำนวน 34 ราย ถูกเรียกค่าเสียหายรวมกันทั้งสิ้น 13 ล้านบาท การเรียกค่าเสียหายคดีโลกร้อนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและส่งผลกระทบให้เกษตรกรต้องรับภาระชำระหนี้ที่ไม่ได้มีอยู่จริง และไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น อีกทั้งแบบจำลองฯดังกล่าว มีรายละเอียดการคำนวณที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ได้รับการยอมรับถึงคุณภาพมาตรฐานการวิจัย และไม่น่าเชื่อถือทางวิชาการเพียงพอที่จะนำมาบังคับใช้ทางกฎหมาย ดังได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างจากเครือข่ายนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การมีคำสั่งเรียกค่าเสียหายทำให้โลกร้อนกับเกษตรกรของกรมอุทยานแห่งชาติฯและกรมป่าไม้ จึงถือเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรงและเลือกปฏิบัติกับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นผู้มีวิถีการผลิตและการดำรงชีพที่ไม่เพียงไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ดำรงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน
การดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า และการดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายโลกร้อน รวมทั้งการเข้าจับกุม ตัดฟันพืชผลที่เกษตรกรปลูกสร้าง และข่มขู่ชุมชนที่อยู่อาศัย และทำกินในเขตพื้นที่ป่าของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เกิดขึ้นกับสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทั้งในจังหวัดตรัง (ถูกเรียกค่าเสียหายคดีโลกร้อน ถูกจับกุมและตัดฟันทำลายพืชผลการเกษตรโดยเจ้าหน้าที่รัฐ) จังหวัดพัทลุง (ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุก โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ) และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ถูกข่มขู่ให้ตัดฟันทำลายพืชผลการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง)
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จึงขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตรวจสอบการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมดังกล่าว คืนความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และรับรองสิทธิชุมชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยการ 1. ยกเลิกการใช้แบบจำลองการคิดค่าเสียหาย และการดำเนินคดีโลกร้อนกับเกษตรกร และ 2. ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการมีคำสั่งคุ้มครองพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งมีวิถีชีวิตในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามแนวทางนโยบายโฉนดชุมชน
ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินวิถีชีวิตได้ตามปกติสุข และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสมนึก พุฒนวล)
กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.