ในวันที่สถานการณ์น้ำและสภาพฝนฟ้ายังสร้างความหวาดหวั่นให้แก่พี่น้องเกษตรกร และประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริม 2 ฝั่งเจ้าพระยา กระทั่งคนเมืองหลวงที่อยู่ในพื้นที่ท้องกระทะ คำกล่าวที่ว่า สิ่งที่แน่นอนคือความไม่แน่นอน ยังใช้ได้อยู่ไม่ล้าสมัย
แม้ว่าก่อนหน้านี้ รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ออกมาการันตีว่า ถึงน้ำจะท่วมในหลายพื้นที่ แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่ปีนี้น้ำจะกลับมาท่วมกรุงเทพฯแบบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 เพราะปริมาณน้ำที่ไหลหลากเข้าสู่ กทม.ขณะนี้ ต่างกันอย่างมาก กับเมื่อปี 2554
ทั้งนี้ พิจารณาจากข้อมูลของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เทียบกับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ปกติแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรองรับน้ำไหลผ่านสูงสุดได้ที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
แต่เมื่อคราวเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ต้องเร่งระบายน้ำออกถึง 3,697 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงทำให้มวลน้ำมหึมา 3,278 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลเอ่อเข้าท่วม 11 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหาย 2 ล้านกว่าไร่
เทียบกับสถานการณ์น้ำในเวลานี้ เขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 1,800-2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
หรือจะพิจารณาจากดัชนีชี้วัดสำคัญอีกตัว โดยเทียบปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จุดซึ่งเปรียบเสมือนหน้าด่านใหญ่ ก่อนที่น้ำจะบุกจู่โจมเข้าปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ เมื่อปี 54 กับปัจจุบันก็มีปริมาณแตกต่างกันเยอะ
กล่าวคือ ปริมาณน้ำ ณ บริเวณดังกล่าว เมื่อปี 54 มีอัตราการไหลถึง 3,213 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เทียบกับปัจจุบัน อัตราการไหลอยู่ที่ประมาณ 1,359 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือมากกว่านั้นไม่เท่าไร
นอกจากนี้ น้ำเหนือที่ระบายลงมาสู่เขื่อนเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท ก็ยังไม่เกินความจุของลำน้ำ รวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาเองก็คาดการณ์
ไว้ว่า กำลังใกล้จะหมดฤดูฝน และเข้าสู่ฤดูหนาวในกลางเดือนตุลาคมนี้แล้ว ฉะนั้นสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนเมื่อปี 2554 จึงไม่น่าจะตามมาเขย่าขวัญกันอีกหน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมชลประทานได้เผยถึงแผนการระบายมวลน้ำจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลาง พร้อมทั้งเตือน 7 จังหวัดให้รับมือ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในภาคเหนือ ทำให้ต้องมีการเร่งระบายน้ำลงสู่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง อาจทำให้มีน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกหลายแห่งได้รับความเสียหาย
กล่าวคือ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกในช่วงปลายเดือน ก.ย.ถึงต้นเดือน ต.ค.59 จนทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยามากขึ้นนั้น ทางกรมชลประทานเห็นว่า ในช่วงดังกล่าวจำเป็นต้องทยอยเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นจากเดิม
ส่วนทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทานได้คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-11 ต.ค.59 ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร มีโอกาสที่น้ำจะเต็มเขื่อนได้ในวันที่ 8 ต.ค.59 จึงต้องเร่งระบายน้ำเพิ่มเป็น 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากเดิมระบายอยู่ที่ 20.75 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ปริมาณน้ำนี้จะไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ถึงแม้ กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
แต่จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนพระรามหก ไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับสูงขึ้นประมาณ 1-1.50 เมตร
ก่อนหน้านี้ ทางกรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหลายจังหวัด เช่น อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
แน่นอน สถานการณ์น้ำที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก อย่างเช่น แถว อ.บางบาล อ.ผักไห่ และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา หรือแถว ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง นาข้าวมีสิทธิ์ลุ้นโดนน้ำท่วมกันถ้วนหน้ากันอีกครั้ง
ความเสียหายซ้ำซากที่เกิดกับชาวนาบริเวณดังกล่าว ชวนให้นึกถึงทางออกที่มีอยู่ คือ พันธุ์ข้าวทนน้ำ ซึ่งเป็นผลิตผลจากงานวิจัยของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ
แต่เป็นที่น่าประหลาดใจ เหตุใดชาวนาในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหลายแห่ง จึงไม่สนใจที่จะใช้ พันธุ์ข้าวทนน้ำ ไปใช้ทำนา
เรื่องนี้ แหล่งข่าวผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ประจำศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ช่วยไขข้อข้องใจว่า พันธุ์ข้าวทนน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ พันธุ์ข้าวจมน้ำ กับ พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ
อย่างแรก พันธุ์ข้าวจมน้ำ มีคุณสมบัติพิเศษสามารถจมอยู่ใต้น้ำได้นาน แต่ขณะนี้สำหรับเมืองไทยยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา จึงยังไม่มีการรับรองพันธุ์ และยังไม่มีการแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก
ส่วนอีกประเภท เป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกได้ในสภาพน้ำท่วม แบบฉับพลัน หรือเรียกอีกอย่างว่า “ข้าวขึ้นน้ำ” เช่น ข้าวเจ้าพันธุ์ “กข.51” ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์แรกที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยคัดเลือก
ข้าวพันธุ์นี้พัฒนามาจากพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้มีลักษณะทนน้ำท่วมแบบฉับพลัน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. โดยไบโอเทค กับสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว
จุดเด่น หรือคุณสมบัติพิเศษของข้าวเจ้าพันธุ์ กข.51 คือ สามารถยืดปล้องหนีน้ำขึ้นได้ ถ้าน้ำค่อยๆมาวันละนิด จึงเป็นพันธุ์ที่สามารถทนน้ำท่วม ในระยะที่ข้าวแตกกอ (ตั้งแต่เริ่มหว่านจนกระทั่งต้นข้าวมีอายุไม่เกิน 60 วัน) หากมีอายุเกินกว่านั้น เปรียบเสมือนคนท้องแก่ ใกล้คลอด ไม่อาจการันตีได้ว่าจะทนน้ำท่วมได้
“ข้าวเจ้าพันธุ์นี้มีความไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 155 เซนติเมตร จุดเด่นคือ ใช้ปลูกในพื้นที่น้ำท่วมแบบฉับพลันซ้ำซากได้ ซึ่งมีระดับน้ำสูงราวๆ 1-3 เมตร สามารถทนอยู่ในน้ำท่วมได้นาน 10-12 วัน โดยชูรวงให้ตั้งชันขึ้นเหนือผิวน้ำ คุณภาพของเมล็ด หุงรับประทานใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105” แหล่งข่าวว่า
แม้จะมีจุดเด่นข้อดีอยู่ไม่น้อย แต่ก็น่าแปลกใจ ไฉนชาวนาในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจึงไม่นิยมปลูก?
คำตอบที่ได้ เพราะข้าวพันธุ์นี้ให้ผลผลิตไม่สูงนัก คือให้ผลผลิตสูงสุดเพียง 736 กก./ไร่ หรือ 70 กว่าถังเท่านั้น แถมยังมีข้อเสียเรื่อง ความอ่อนแอต่อโรคไหม้ โรคใบแห้ง แมลงบั่ว และเพลี้ยกระโดด ทำให้ชาวนาพากันขยาด
อีกอย่าง โดยมากเขตที่ราบลุ่มเจ้าพระยา มักนิยมปลูก ข้าวนาปรัง ซึ่งปลูกได้ทั้งปี แต่ “กข.51” เป็นข้าวนาปีที่ปลูกได้เพียงปีละครั้ง และแม้ที่ผ่านมากรมการข้าวได้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์แก่เกษตรกรบางพื้นที่นำไปปลูกกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย
กระนั้นก็ตาม แหล่งข่าวบอกว่า หากชาวนารายใดสนใจจะนำไปปลูก เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมนาข้าว ปีหน้าสามารถไปขอรับได้ที่กรมการข้าว ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน กทม.
“อย่างน้อยยามยากมีพันธุ์ข้าวให้ปลูกสู้กับน้ำ ยังดีกว่าไม่มีนะคะ” แหล่งข่าวทิ้งท้าย
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 4 ต.ค. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.