นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากตำนานสู่ความจริง จัดโดยสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ในเรื่องภาษีที่ดินนั้นผลักดันมานานถึง 12 รัฐบาลตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปี 2559 เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ หรือ 24 ปี ล่าสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงนโยบายเมื่อปี 2557 ในเรื่องภาษีว่าจะดำเนินการเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีมรดก เพื่อขยายฐานภาษีและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสำเร็จไปแล้วสำหรับภาษีมรดก ยังเหลือภาษีที่ดิน ขณะนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา
ทั้งนี้ยืนยันว่าการเก็บภาษีที่ดินจะไม่ทำให้คนจน เกษตรกร หรือคนที่มีบ้านหลังแรกเดือดร้อน เพราะภาษีที่จะเก็บส่วนใหญ่เก็บจากที่ดินเชิงพาณิชยกรรม ที่ดินอุตสาหกรรม และที่ดินเปล่า คาดว่าจะมีรายได้เพื่อให้ท้องถิ่นนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 33,000 ล้านบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาคงใกล้จะจบแล้ว ล่าสุดมีการถามความเห็นบางประเด็นมาที่กระทรวงการคลัง เป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่หลักการสำคัญของกฎหมายซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นด้วยกับเพดานการจัดเก็บ รวมถึงเห็นด้วยกับข้อยกเว้นสำหรับบ้านหลังแรก และที่ดินเกษตรมีมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตอบความเห็นส่งไปยังกฤษฎีกาแล้ว คาดว่ากฤษฎีกาจะสรุปกฎหมายและมีการเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ช่วงเดือนตุลาคมนี้ โดยคาดว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ทันทีในช่วงต้นปี 2560
ที่มา : มติชน วันที่ 23 ก.ย. 2559