สศก.ดัน Smart Farmer สู่ไทยเเลนด์ 4.0 ตั้งเป้ารายได้เกษตรกรต้องไม่ต่ำกว่า 180,000/ปี เผยภาพรวมความพร้อมภาคเกษตรยังอยู่ระดับปานกลาง 2.0 เหตุเกษตรกรยังยึดรูปแบบเดิม
ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจได้วิเคราะห์นโยบายรัฐบาล ไทยเเลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมทุกด้านด้วยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตและการจ้างงาน ดังนั้น ความพร้อมของการก้าวสู่ภาคการเกษตร 4.0 จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องบุคลากรสู่การเป็น Smart Officer และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาดโดยที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและโอบอุ้มเกษตรกรอย่างที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จึงได้ตั้งเป้ายกระดับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็น Smart Farmer โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา 2 ประเด็นหลัก คือ รายได้ของครัวเรือนเกษตรไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ปี โดยเกษตรกรเองต้องมีทั้งคุณสมบัติเเละตัวบ่งชี้พื้นฐานประกอบ อาทิ เกษตรกรต้องเป็นต้นเเบบ ให้คำปรึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้อื่นได้ รวมทั้งต้องผ่านการอบรมมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์หรือมาตรฐานอื่นๆ สำคัญที่สุดคือต้องเข้าถึงแหล่งข้อมูลอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟนได้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรกรรม
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการสำรวจเพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์จริง มก.จึงได้ลงพื้นที่สำรวจเกษตรกร จ.ลพบุรี พบว่า เกษตรกรมีรายได้เเละรายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 372,703 บาท/ปี รายจ่ายภาคเกษตร 115,490 บาท/ปี รายได้ภาคเกษตรสุทธิ 257,213 บาท/ปี รายได้นอกภาคเกษตร 146,149 บาท/ปี รายจ่ายนอกภาคเกษตร 257,056 บาท/ปี รายได้นอกภาคเกษตรสุทธิยังติดลบที่ 110,906 บาท/ปี เเละมีรายได้ครัวเรือนสุทธิ 146,307 บาท/ปี และจากปัญหาที่พบเกษตรกรมี Smart phone แต่ยังใช้แบบปุ่มกด ไม่มีแอพพลิเคชั่น หรือมี แต่ไม่ได้นำมาใช้ในการเกษตร ดังนั้นภาครัฐเองต้องเข้าไปให้ความรู้สร้างฐานข้อมูลให้มากขึ้น
อาทิ 1.ควรมีศูนย์ข้อมูลกลางเกษตรด้านเกษตรที่ Smart Farmer จะเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลเพื่อการพัฒนา ต่อยอด เบ็ดเสร็จในที่เดียว 2.หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาสินค้าเกษตร ควรให้ความสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ ในการดำเนินนโยบาย Smart Farmer เพื่อให้เกิดการบูรณาการฐานข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลกลางเกษตรในส่วนของการตลาดเชิงลึกที่ครอบคลุมด้านมูลค่าปริมาณ สต๊อกสินค้า เนื่องจากการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญ 3.ในการเข้าสู่ Smart Farmer ในเบื้องต้นเกษตรกรต้องเปิดกว้างทางความคิดในการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ นวัตกรรม หรือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาแล้วทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ยึดติดกับของเดิมที่เป็นอยู่มากจนเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาแรกของการพัฒนา Smart Farmer 4.เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ควรมีช่องทางที่ Smart Farmer สามารถเรียนรู้ และเข้าถึงได้ง่าย
"อย่างไรก็ดี ปัญหาขาดเเคลนเเรงงานภาคเกษตร เป็นประเด็นที่น่าห่วง หากต้องก้าวสู่ไทยเเลนด์ 4.0 ภาคเกษตรอาจยังไม่มีความพร้อมมากนัก เนื่องจากการต่อยอดรุ่นสู่รุ่นของอาชีพเกษตรกรรมน้อยลง รัฐอาจต้องผลักดันส่งเสริมชูต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแบบอย่างในการสร้างแรงจูงใจให้มาทำการเกษตรมากยิ่งขึ้นและเกษตรกรปัจจุบันต้องเปิดใจรับการปรับหรือเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรจากเดิมให้มากขึ้นด้วย ซึ่งจากการสำรวจดังกล่าวภาพรวมความพร้อมภาคเกษตรยังอยู่ที่ระดับปานกลาง 2.0 เท่านั้น"
ด้าน นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า ภายใน 5 ปี สศก.ตั้งเป้ายกระดับรายได้เกษตรกร หากภาคเกษตรเพื่อก้าวเข้าสู่ไทยเเลนด์ 4.0 เมื่อหักลบหนี้ครัวเรือนเเล้วเกษตรกรจะต้องมีรายได้อยู่ที่ 180,000 บาท /ปี จาก 146,307 บาท/ปี แต่ต้องยอมรับว่าเกษตรกรเองต้องใช้เวลาในการปรับตัว เเละรัฐเองต้องสร้างการรับรู้ไปถึงเกษตรกรในเเง่ของการเป็น smart farmer เกษตรกรต้องเปิดกว้างความคิดเปิดรับสิ่งใหม่ๆต่อนวัตกรรม ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐเองต้องพัฒนาเป็น Smart officer ให้ทันสมัยเเละสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรได้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 ก.ย. 2559
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.