เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้ 1.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) 2.มอบหมายสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำกราบบังคมทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2564
โดยเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลได้สรุปสาระ สำคัญของเรื่องไว้ว่า สศช. รายงานว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2559 โดย สศช. ได้จัดทำ ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2539) โดยหลักการสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประกอบด้วย (1) ยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” (2) ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” (3) ยึด “วิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มาเป็นกรอบของวิสัยทัศน์ประเทศไทยในแผนพํฒนาฯ ฉบับที่ 12 (4) ยึด “เป้าหมายอนาคตประเทศไทยปี 2579” เป็นกรอบการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปีแรก และเป้าหมายในระดับย่อยลงมา ควบคู่กับกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน และ (5) ยึดหลักการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจังใน 5 ปี
วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประกอบด้วย (1) เพื่อวางรากฐานให้คนไทยเป็นคนมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ตลอดจนเป็นคนเก่งที่มีทักษะความรู้ความสามารถและพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (2) เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ (3) เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง แข่งขันได้ มีเสถียรภาพ และมีความยั่งยืน (4) เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยา กรธรรมชาติ (5) เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีการทำงานเชิงบูรณาการ (6) เพื่อให้มีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และ (7) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายรวม ประกอบด้วย (1) คนไทยมีคุณลักษณะเป็นคนไทยที่สมบูรณ์ (2) ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความยากจนลดลง (3) ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ (4) ทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมสามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5) มีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตยและเพิ่มความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อประเทศไทย และ (6) มีระบบบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ กระจายอำนาจ และมีส่วนร่วมจากประชาชน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ มี 10 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ 2) ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3) ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน 4) ยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 5) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคั่งและยั่งยืน 6) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และธรรมาภิบาลในสังคมไทย 7) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ 8) ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม 9) ยุทธศาสตร์การพัฒนาภค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ และ 10) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
ไฟเขียว Medical Hub ระยะ 10 ปี
รวมถึง ครม. ยังมีมติ เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบหลักการยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยให้ สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมตามกรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล (ถึงเดือนกรกฎาคม 2560) แล้วดำเนินการต่อไปได้ ส่วนกิจกรรมใดที่เป็นการดำเนินการซึ่งเกินกว่ากรอบระยะเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ให้นำเรื่องดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติรูปเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินพิจารณาดำเนินการต่อไปตามนัยมติข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 (เรื่อง การเสนอโครงการที่ต้องขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี)
ทั้งนี้ ในส่วนงบประมาณและเงินจากแหล่งอื่นสำหรับดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. ในการดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hab)กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการโดยไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทยด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ. 2559 – 2568) มีวิสัยทัศน์พันธกิจที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขของโลกภายใน 10 ปี โดยมีเป้าประสงค์ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 2. ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) 3. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) 4. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ 2) พัฒนาบริการรักษาพยาบาล 3) พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 4) พัฒนาบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 5) พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ (Academic Hub) 6) พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ 7) ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์
ทั้ง นี้ แผนระยะเร่งด่วน 2 ปี จะดำเนินการในปี 2559 – 2560 และระยะปานกลาง – ระยะยาว 8 ปี จะดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป โดยมีการติดตามและประเมินผลตามตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย
ที่มา : ประชาไท วันที่ 14 ก.ย. 2559